จากรายงานของ สถาบันเพื่อกิจการสาธารณสุขและสังคมเกาหลี (Korea Institute for Health and Social Affairs) ซึ่งสำรวจข้อมูลสตรีทั่วประเทศราว 11,000 คน ในช่วงอายุ 15 ถึง 49 ปี พบว่า สตรีชาวเกาหลีอยากมีลูกเฉลี่ยแล้ว 2.16 คน แต่กลับมีลูกยเฉลี่ยเพียง 1.75 คน
เมื่อถูกถามว่า มีแผนจะมีลูกเพิ่มในอนาคตไหม 84.8 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงที่ตอบแบบสำรวจ ไม่คิดจะมีลูกในอนาคต 10 เปอร์เซ็นต์ มีแผนจะมีลูก และ 4.8 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่แน่ใจ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่ไม่อยากมีลูกให้เหตุผลว่าเป็นเพราะภาระทางการเงิน
จาก 47.1 เปอร์เซ็นต์ ของสตรีชาวเกาหลีที่ไม่อยากมีลูกเพิ่มนั้น ให้สาเหตุทางเศรษฐกิจดังนี้ 16.8 เปอร์เซ็นต์ กังวลเรื่องค่าการศึกษาของลูก 14.2 เปอร์เซ็นต์ กังวลเรื่องค่าเลี้ยงดู 7.9 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้ต่ำและการงานที่ไม่มั่นคง 6.9 เปอร์เซ็นต์ มองว่าการทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วยเป็นเรื่องลำบาก และ 1.3 เปอร์เซ็นต์ไม่มีบ้านที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงลูก
ลี สตรีวัย 30 กว่าในกรุงโซล เล่าว่า เธอมีลูกแล้วหนึ่งคน แต่ไม่คิดจะมีคนที่สอง เพราะค่าใช้จ่ายสำหรับลูกคนแรกนั้นสูงมาก "เราต้องเก็บเงินเพื่อวางแผนเกษียณ แล้วก็ยังอยากจะมีเงินไว้ใช้พักผ่อนหย่อนใจบ้าง"
สำหรับเหตุผลอื่นๆ นอกจากด้านเศรษฐกิจนั้น 20.1 เปอร์เซ็นต์ ให้เหตุผลว่ามีจำนวนลูกเท่ากับครอบครัวอื่นแล้ว 4 เปอร์เซ็นต์ เป็นเพราะปัญหาด้านสุขภาพ 3.1 เปอร์เซ็นต์ อยากใช้เวลากับคู่ครองมากขึ้น และ 2.8 เปอร์เซ็นต์มองว่าเด็กไม่น่าจะโตมามีความสุขในสังคมแบบนี้
หากแบ่งการให้เหตุผลตามช่วงอายุคร่าวๆ แล้ว สตรีในช่วงวัย 20 กว่าปี เป็นกลุ่มหลักที่กังวลเรื่องค่าเลี้ยงดูลูก ส่วนกลุ่มอายุ 35 ถึง 39 ปี คือกลุ่มที่ไม่อยากมีลูกเพิ่มเพราะค่าเล่าเรียน
ในปี 2017 มีทารกชาวเกาหลีเกิดใหม่ 357,771 คน ลดลงถึง 48,500 คนจากปีก่อนหน้า จำนวนที่ลดลงคิดเป็นสัดส่วนถึง 11.9 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2018 อัตราการให้กำเนิดบุตรก็ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสตรีชาวเกาหลีหนึ่งคนให้กำเนิดบุตรโดยเฉลี่ย 0.96 คน สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหาอัตราการเกิดต่ำในเกาหลีใต้ เนื่องจากอัตราการเกิดที่คาดหวังโดยทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 2.33 คน กล่าวคือแม่หนึ่งคนมีลูก 2 คน เพื่อทดแทนจำนวนประชากรเมื่อพ่อแม่เสียชีวิต และสัดส่วน 0.33 คนที่เหลือนั้นเป็นจำนวนเผื่อประชากรเสียชีวิตก่อนวัยพร้อมสืบพันธุ์
รายงานชิ้นนี้สรุปว่า รัฐบาลต้องขจัดอุปสรรคที่ทำให้คู่รักไม่อยากมีบุตร โดยต้องให้ความช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับการคลอดบุตรและการดูแลบุตร รวมถึงต้องมุ่งทำให้สังคมปลอดภัย และเอื้อต่อการมีชีวิตที่ดี ผู้คนจะได้มีทัศนคติต่อสังคมในแง่ดีขึ้น
ที่มา :