ไม่พบผลการค้นหา
ปิดฉากอย่างคุ้มค่า ไทยเจ้าภาพจัดความร่วมมืออ่าวเบงกอลฯ (BIMSTEC) 7 ชาติ สะท้อนการขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาคอย่างเข้มแข็ง ทั้งการค้าการลงทุน การคมนาคมสำคัญระหว่างอ่าวเบงกอลสู่ไทย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติระหว่างประเทศบรรลุผล

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปภาพรวมผลสำเร็จของประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 หรือประเทศอนุภูมิภาคอ่าวเบงกอล7ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 3 -4 เม.ย. 68

โดยที่ ประชุมเปิดเวทีให้ผู้นำจาก 7 ประเทศสมาชิกร่วมถกประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ดิจิทัล การบริหารจัดการภัยพิบัติ และปัญหาเร่งด่วนของภูมิภาค พร้อมทั้งรณรงค์วิสัยทัศน์ “PRO BIMSTEC” ที่มุ่งสู่ความมั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง

ทั้งนี้การเป็นประธานการประชุมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทเชิงรุกของไทยในฐานะเจ้าภาพ ได้นำประเทศสมาชิกมารวมตัวกันเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทั้งยังเป็นการพบปะระหว่างผู้นำ 7 ชาติ จากทั้งบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล และศรีลังกา ประชุมเต็มคณะและการประชุมพบกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรกในรอบ 7 ปี

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่าสำหรับความสำเร็จของการประชุมฯ ครั้งนี้ ผู้นำบิมสเทคได้รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญถึง 6 ฉบับ ประกอบไปด้วย วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ที่เป็นแผนยุทธศาสตร์ในการสร้าง “PRO BIMSTEC” ภายในปี 2573 ปฏิญญาการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบิมสเทค รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิทิศทางอนาคตของบิมสเทค ความตกลงความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล รวมถึงแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเมียนมา สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนความร่วมมือและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาค

สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการประชุม BIMSTEC ครั้งนี้ จะนำมาซึ่งประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนไทย ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก ช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและการลงทุนใหม่ ๆ รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจผ่านเครือข่ายการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น จะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงก่อนการประชุมฯ นายกรัฐมนตรียังได้ให้การต้อนรับผู้นำเนปาลและอินเดียในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ยกระดับความสัมพันธ์และมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ พร้อมยังได้หารือทวิภาคีกับผู้นำระหว่างการประชุม ได้แก่ ผู้นำบังกลาเทศ ศรีลังกา ภูฏาน และเมียนมา ที่ได้มีการหารือการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ call center และยาเสพติด รวมทั้งข้อสรุปการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติระหว่างพรมแดนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการติดตามการคมนาคมที่เคยมีข้อตกลงในอดีตที่จะเป็นเส้นทางจากไทยไปยังประเทศเมียนมาและเข้าสู่ประเทศอินเดียเพื่อเป็นช่องทางการค้าขายในตลาดมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นต้น

“ภารกิจครั้งนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในฐานะเจ้าภาพและผู้นำเวทีภูมิภาคที่เข้มแข็ง ทั้งในด้านการเจรจา การบริหารจัดการ และการสร้างความร่วมมืออันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยและประเทศสมาชิก BIMSTEC ทั่วภูมิภาค” นายจิรายุ กล่าว