นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (วันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568) เวลา 13.00 น. ณ ห้อง Ballroom 3 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 (The 6th BIMSTEC Summit) โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ไทยเป็นประธานฯ คือการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 1 ในปี 2547 ถือเป็นการนำบิมสเทคกลับมาสู่บ้าน และเป็นโอกาสต่อยอดจากรากฐานที่วางไว้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยแนวคิดหลักของไทยในฐานะประธานฯ มุ่งให้ “บิมสเทคมีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง” (Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC) หรือ “PRO BIMSTEC” โดยบิมสเทคจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกันในระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อม การบรรเทาและฟื้นฟูประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้งกลไกให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยใช้ประสบการณ์จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีประกาศว่า ผู้นำบิมสเทคได้รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญของการประชุมฯ 6 ฉบับ ได้แก่
1) วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ฉบับแรกของบิมสเทคที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อสร้าง “PRO BIMSTEC” ให้สำเร็จภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยให้บิมสเทคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ อื่น ๆ ได้อย่างแข็งขันยิ่งขึ้น โดยเน้นการเสริมสร้างการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์
2) ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 เน้นย้ำเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนบิมสเทคเพื่อการบรรลุวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
3) กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบิมสเทค ซึ่งทำให้บิมสเทคเป็นกรอบความร่วมมือที่มีกฎระเบียบอ้างอิงมากขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการดำเนินงานของบิมสเทค
4) รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ซึ่งนำเสนอข้อเสนอแนะสำคัญที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
5) การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการค้า และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน
6) แถลงการณ์ร่วมของผู้นำบิมสเทคว่าด้วยผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเมียนมา ซึ่งแสดงถึงความเสียใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนสะท้อนถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในการบริหารจัดการภัยพิบัติและการเสริมสร้างกลไกตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ผลลัพธ์จากการประชุมในครั้งนี้นำมาซึ่งผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนไทย โดยช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในการส่งออก สร้างโอกาสทางการตลาดและการลงทุน รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนผ่านความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทยและการจ้างงาน โดยผลลัพธ์เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงช่วงก่อนการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้การต้อนรับการเยือนอย่างเป็นทางการของผู้นำประเทศสมาชิกบิมสเทค โดยในวันที่ 2 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีให้การต้อนรับ นายเค พี ศรรมะ โอลี (Rt. Hon. Mr. K P Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีเนปาลเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยการหารือระหว่างทั้งสองฝ่ายครอบคลุมความร่วมมือในหลายด้าน อาทิ การค้าและเศรษฐกิจ การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ การเกษตร การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเนปาลที่ไทยให้การสนับสนุนมามากกว่า 50 ปี รวมถึงมีการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจร่วมกัน 8 ฉบับ ในระหว่างการเยือนฯ ครั้งนี้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้การต้อนรับนายนเรนทร โมที (H.E. Mr. Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดียเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 3 – 4 เมษายน 2568 โดยผู้นำทั้งสองได้ประกาศยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ พร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้าน อาทิ การเมืองและความมั่นคง การค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยง วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนา (Buddhist Circuit) และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมทั้งมีการลงนามปฏิญญาและบันทึกความเข้าใจร่วมกันหลายฉบับ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับประเทศสมาชิกบิมสเทค สำหรับความสำเร็จของการประชุมผู้นำฯ ในวันนี้ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของบังกลาเทศ บิมสเทคจะสืบสานความสำเร็จต่อไป