ที่ประชุมองค์การอนามัยโลก (WHO) ลงมติให้ประกาศว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่นนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ภายหลังจากผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อดังกล่าวเพิ่มเป็น 170 รายในประเทศจีน และมีผู้ติดเชื้อราว 7,800 คนในจีนและประเทศอื่นๆ รวม 18 แห่งทั่วโลก
การประกาศภาวะฉุกเฉินระดับโลกจะทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเพิ่มความเข้มงวดมาตรการกักกันและควบคุมโรค รวมถึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ WHO อย่างเคร่งครัด ทั้งยังจะต้องแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว
ประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลอีกประการหนึ่ง คือ อัตราการติดเชื้อไวรัสจากคนสู่คนที่เพิ่มขึ้น โดย CGTN สื่อในสังกัดรัฐบาลจีน รายงานข่าววันนี้ (31 ม.ค.) ว่าสถิติผู้เสียชีวิตจากเชื้อดังกล่าวเพิ่มเป็น 213 ราย และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 9,692 คนในประเทศ ส่วนประเทศที่พบผู้ติดเชื้อรายแรก ได้แก่ อิตาลี ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากจีน รวม 98 คน
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า มติดังกล่าวอาจทำให้จีนผิดหวัง เนื่องจากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ออกมาประกาศว่ารัฐบาลของตนจะต่อสู้เพื่อเอาชนะ 'ไวรัสปีศาจร้าย' ตัวนี้ให้ได้
นายแพทย์เทดรอส อัดฮานอม กีเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก แถลงต่อที่ประชุมว่า มาตรการรับมือของจีนเป็นที่น่าพอใจ และการประกาศให้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น 'ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก' ไม่ได้เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในจีน แต่เป็นเพราะสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ซึ่ง WHO เกรงว่าสถานการณ์ไวรัสจะย่ำแย่ถ้าแพร่กระจายในประเทศที่ระบบป้องกันและสาธารณสุขไม่ดีพอ
ด้าน 'เจเรมี ฟาร์รา' ผู้อำนวยการองค์กรการกุศลด้านการวิจัยชีวการแพทย์ในอังกฤษ Wellcome Trust สนับสนุนมติของ WHO พร้อมระบุว่า การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การตัดสินใจของ WHO ที่ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับโลกคือสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้รัฐบาลทั่วโลกมุ่งมั่นมากขึ้นในการควบคุมและป้องกันพลเมืองของตนเองจากเชื้อไวรัสดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม WHO ไม่สนับสนุนให้นานาประเทศใช้มาตรการระงับการเดินทางหรือระงับความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่บางประเทศและเขตบริหารพิเศษได้ประกาศปิดพรมแดนที่เชื่อมต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น รัสเซียและฮ่องกง โดยอ้างเหตุผลเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสแพร่ระบาดจากคนสู่คน และสายการบินอย่างน้อย 16 แห่งทั่วโลก ระงับเส้นทางบินไปจีนช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.
ขณะเดียวกัน บริษัทขนาดใหญ่อีกหลายแห่งสั่งระงับกิจการในจีนชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ไวรัสจะคลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็น อีเกีย ห้างจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้านจากสวีเดน และบริษัทแม่ของ 'กูเกิล' ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งของจีนและบริษัทต้นทาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: