ไม่พบผลการค้นหา
1 พ.ย. รัฐบาลเริ่มจ่ายเงินประกันรายได้ให้ชาวสวนยางพร้อมเสริมมาตรการสร้างสวนยางยั่งยืน-เพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ-ดันส่งออก หวังช่วยเกษตรกรระยะยาว

หลังจากรัฐบาลทยอยจ่ายส่วนต่างประกันรายได้สินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ปาล์ม (1 ต.ค. 2562) ข้าว 5 ชนิด (15 ต.ค.2562) ล่าสุด วันที่ 1 พ.ย. 2562 เป็นวันแรกที่เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะได้รับเงินประกันรายได้ในงวดที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 - 15 พ.ย. 2562, งวดที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 - 15 ม.ค. 2563 และงวดที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 - 15 มี.ค. 2563

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า สำหรับการกระจายเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางนั้น รัฐบาลมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปก่อน โดยดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรชาวสวนยางแบ่งสัดส่วนเป็นเจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีดยางร้อยละ 40

จุรินทร์เปิดโครงการรายได้ยาง
  • เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับหลักเกณฑ์ของ กยท. กำหนดว่าสวนยางที่จะได้รับเงินประกันรายได้ต้องเป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไปและเปิดกรีดแล้ว แต่เกษตรกรแต่ละรายต้องมีสวนยางไม่เกิน 25 ไร่ ทั้งที่มีเอกสารสิทธิบัตรสีเขียว และเกษตรกรบัตรสีชมพู จำนวนรวม 1,711,252 ราย และคิดเป็นพื้นที่สวนยางรวม 17,201,391 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 86 ของพื้นที่ทั้งหมด คิดเป็นงบประมาณวมทั้งสิ้น 24,278 ล้านบาท

ประกันรายได้ยางพารา 23-60 บาท/กิโลกรัม

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าส่วนต่างประกันรายได้ยางพารา แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม
  • น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม
  • ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม

โดยรายได้ที่เกษตรกรจะได้รับ คิดจาก (ราคาที่ประกันรายได้ - ราคากลางอ้างอิง) * ประมาณผลผลิต กก./ไร่/เดือน * จำนวนไร่

'นวัตกรรมใหม่ของรัฐบาล'

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ครั้งนี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ "ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำมาก่อน" 

จุรินทร์เปิดโครงการรายได้ยาง

โดยอธิบายว่าความก้าวหน้าของโครงการนี้มาจากที่รัฐบาลเล็งเห็นปัญหาและพร้อมช่วยเกษตรกรด้วยวิธีที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงราคาตลาด เพราะการประกันราคาเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เพราะถือเป็นการผิดกฎที่ตกลงไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) และจะทำให้ผลิตภัณฑ์จากไทยไม่สามารถส่งไปขายต่างประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ความต้องการยางในตลาดโลกที่ลดลง เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้คือการประกันรายได้ เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่า แม้ราคาตลาดจะตกต่ำแต่ฝั่งเกษตรกรจะยังมีรายได้เพียงพอในการจุนเจือครอบครัว และย้ำว่า โครงการนี้จะยังดำเนินต่อไปตราบใดที่รัฐบาลนี้ยังบริหารประเทศอยู่

พร้อมย้ำว่า รัฐบาลนำโดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมีความพยายามช่วยเหลือเกษตรอีก 3 มาตรการ คือ (1) การพัฒนาความรู้เรื่องการทำสวนยางยั่งยืน โดยปลูกพืชอื่นๆ ข้างเคียง (2) การเพิ่มการใช้ยางในประเทศ โดยกระตุ้นองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้หันมาใช้ยางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ (3) การเดินหน้าเจรจาการค้ากับต่างประเทศ ทั้งอินเดีย ตุรกี และจีน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :