นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2562 โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานคณะกรรมการ ธ.ก.ส.เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว
โดยกลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 20,940 ล้านบาท จำนวนเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์กว่า 4.31 ล้านราย (ตามที่ลงทะเบียนไว้กับ ธ.ก.ส.) โดยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่
กรณีเกษตรกรปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด จะได้สิทธิไม่เกินจำนวนสูงสุดของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด โดยมีการกำหนดราคาอ้างอิงและระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2562 – 28 ก.พ. 2563 (ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. – 31 พ.ค. 2563) ซึ่งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงครั้งแรกวันที่ 15 ต.ค. 2562 เพื่อใช้ในการชดเชยส่วนต่างตามโครงการ ความชื้นความเปลือกแต่ละชนิดไม่เกินร้อยละ 15
โดยในวันนี้ (15 ต.ค.) ชดเชยส่วนต่างราคาประกันข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 2,469.64 บาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 783.45 บาท มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินทั้งสิ้น 349,392 ราย เป็นเงิน 9,413 ล้านบาท จากนั้นจะประชุมเพื่อกำหนดราคาอ้างอิงทุก ๆ 15 วัน จนถึงวันสิ้นสุดโครงการฯ
สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2562/63 รอบที่ 1 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เม.ย. - 31 ต.ค. 2562 (ยกเว้นภาคใต้ระหว่างวันที่ 16 มิ.ย. - 28 ก.พ. 2563) และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิดคูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นข้อมูลในการจ่ายเงิน
จากนั้น ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ที่ Link: http://chongkho.inbaac.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :