ไม่พบผลการค้นหา
จีนสั่ง 'กระชับมาตรการคัดกรอง' ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไร้อาการ ถ้าตรวจพบต้องรีบแจ้งหน่วยงานควบคุมโรคทันที เหตุเข้าข่าย 'พาหะนำเชื้อ' แม้จะอยู่ในระดับ 'ต่ำมาก' ก็ต้องเฝ้าระวัง เพื่อตอบสนองความกังวลของสังคม

เว็บไซต์ Xinhua Thai รายงานว่า "จีนกระชับมาตรการตรวจผู้ติดเชื้อ ‘โควิด-19’ ไม่แสดงอาการ" เมื่อวันที่ 9 เม.ย. โดยระบุว่า รัฐบาลจีนส่งหนังสือเวียนไปยังทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ให้ยกระดับการตรวจหา 'ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่แสดงอาการ' อย่างเข้มข้นมากขึ้น และรับมืออย่างทันท่วงที

ก่อนหน้านี้ ซินหัวไทยก็เคยรายงานอ้างอิงคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) ที่ระบุว่า NHC ได้เสริมข้อมูลผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการของโรคลงไปในรายงานประจำวันเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อตอบสนองต่อความกังวลของสังคม โดยสถิติที่รวบรวมล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ชี้ว่า จีนแผ่นดินใหญ่มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ และอยู่ระหว่างการสังเกตการณ์ทางการแพทย์ทั้งสิ้น 1,027 ราย

ทางด้าน 'อู๋จุนโหย่ว' นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (CDC) ชี้แจงประเด็นการติดเชื้อในผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ อ้างอิงการวิจัยระดับท้องถิ่น ซึ่งจัดทำในเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน พบว่า ประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อของผู้ป่วยไร้อาการ คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผล

อย่างไรก็ตาม สถิติเกี่ยวกับระยะเวลาการติดเชื้อและลักษณะการติดเชื้อของผู้ป่วยไร้อาการยังมีไม่เพียงพอ จึงควรดำเนินการวิจัยและสังเกตการณ์เพิ่มเติม แต่ด้วยมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มีในขณะนี้ ความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยไร้อาการจะก่อให้เกิดการแพร่โรคต่อไปนั้น อยู่ในระดับ "ต่ำมาก"

จีน ปักกิ่ง ประชาชน.JPG

ผู้ป่วยไร้อาการ หมายความว่าอย่างไร?

ซินหัวไทยได้รายงานอ้างอิงเอกสารของหน่วยงานรัฐบาลจีน ระบุว่า 'ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ' (asymptomatic patient) หมายถึง ผู้ที่มีผลทดสอบไวรัสเป็นบวก แต่ไม่มีอาการต่างๆ เช่น มีไข้ ไอ หรือเจ็บคอ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ติดเชื้อและมีความเสี่ยงที่จะแพร่ต่อไปยังผู้อื่นได้ เข้าข่าย 'พาหะนำเชื้อ'

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงมีคำสั่งยกระดับการคัดกรองการติดเชื้อไร้อาการ โดยครอบคลุมเป้าหมายไปถึงผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยืนยันผล ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ผู้ที่สัมผัสกับโรคโควิด-19 และนักเดินทางจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ

ทั้งนี้ รัฐกำหนดให้โรงพยาบาลทั่วประเทศและหน่วยงานควบคุมโรคต้องดำเนินการอย่างทันท่วงทีเมื่อตรวจพบพาหะนำเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ส่วนสถาบันการแพทย์ต่างๆ ได้รับคำสั่งให้รายงานการติดเชื้อไปยังหน่วยงานควบคุมโรคที่สังกัดอยู่ภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากตรวจพบพาหะนำเชื้อโรคโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ ผ่านทางระบบเครือข่ายโดยตรง

ขณะเดียวกัน หน่วยงานควบคุมโรคควรดำเนินการสำรวจทางระบาดวิทยาอันรวมถึงการตรวจสอบผู้ใกล้ชิดให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง

AFP-westerdam-เรือสำราญเวสเตอร์ดัมเทียบท่าสีหนุวิลล์

งานวิจัยพบข้อมูลผู้ติดเชื้อไร้อาการต่างจาก WHO

เว็บไซต์ ABC รายงานว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เคยกล่าวถึงผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการในรายงานสถานการณ์โควิด-19 ที่ประเมินข้อมูลจากกรณีต่างๆ ในมณฑลหูเป่ยของจีน ระหว่างวันที่ 16-24 ก.พ.2563 โดยระบุว่า การแพร่เชื้อในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก และไม่ใช่ปัจจัยหลักที่นำไปสู่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่

WHO สรุปว่าอัตราการแพร่เชื้อของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดเท่านั้น โดยอ้างอิงจากจำนวนผู้ติดเชื้อ 72,000 รายในจีน ณ ช่วงเวลานั้น 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอีกชิ้นที่เผยแพร่ในเว็บไซต์วารสารทางการแพทย์ว่าด้วยระบาดวิทยา การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อแห่งยุโรป Eurosurveillance เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา อ้างอิงกลุ่มตัวอย่าง 3,063 รายที่เป็นผู้โดยสารเรือสำราญ 'ไดมอนด์พรินเซส' ซึ่งถูกกักบริเวณที่ท่าเรือโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือน ก.พ. พบข้อมูลบ่งชี้ว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการมีจำนวนมากถึง 634 ราย

ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเหล่านี้มีผลตรวจไวรัสเป็นบวก และคิดเป็น 17.9 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ทำให้คณะนักวิจัยสรุปว่า อัตราการติดเชื้อที่พบในหลายประเทศอาจสูงกว่าที่สรุปในรายงานอย่างเป็นทางการ โดย ABC อ้างข้อมูลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเมินว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอาจสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด และเกาหลีใต้ก็ยอมรับว่า เมื่อตรวจคัดกรองประชากรจำนวนมาก ก็จะพบผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเพิ่มขึ้นเช่นกัน

AFP - โควิด โคโรนา หน้ากากอนามัย

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกฉบับหนึ่งซึ่งศึกษาเกี่ยวกับปริมาณเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบนของผู้ติดเชื้อ ทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ เผยแพร่ทางเว็บไซต์วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์เมื่อ 19 มี.ค. พบว่า ผู้ติดเชื้อรายหนึ่งที่ไม่แสดงอาการ มีปริมาณเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบน 'ไม่ต่าง' จากผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ 

งานวิจัยชิ้นนี้จึงสรุปว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการมีปริมาณไวรัสมากพอที่จะแพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่นได้เช่นกัน แต่โอกาสที่จะแพร่เชื้อผ่านฝอยละอองน้ำลายจากการไอหรือจาม จะน้อยกว่าผู้ที่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

สิ่งที่ค้นพบในงานวิจัยเหล่านี้ส่งผลให้ WHO พิจารณาปรับเปลี่ยนคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเช่นกัน เพราะล่าสุด WHO ได้ออกมาสนับสนุนให้คนทั่วโลกสวมหน้ากากอนามัย แม้จะไม่มีอาการป่วย ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีจากก่อนหน้านี้ที่เคยระบุว่า คนทั่วไปที่ไม่มีอาการเจ็บป่วย ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยก็ได้ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อบุคลากรการแพทย์ที่มีความจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยมากกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: