ไม่พบผลการค้นหา
ธปท. ขยายเงื่อนไขผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 'คลินิกแก้หนี้ ระยะที่3' ปลดล็อก 3 ด้าน 'ให้เป็นเจ้าหนี้รายเดียวได้-อยู่ในขั้นตอนคดีแดง-เป็นเอ็นพีแอลก่อน 1 ม.ค. 2563' หวังช่วยปลดหนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 5,000 ราย จากเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 35 แห่ง โดยมี 'ออมสิน' เข้ามาเพิ่มล่าสุด

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในกำกับ และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ บสส. (SAM) เปิด 'คลินิกแก้หนี้' ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2560 และได้ปรับปรุงเงื่อนไข กระบวนการพิจารณาลูกหนี้เข้าร่วมโครงการมาแล้ว 2 ระยะ ประกอบการสถานการณ์หนี้สินภาคครัวเรือนของไทยยังอยู่ในสถานะน่าเป็นห่วง โดยพบว่า กว่าร้อยละ 40 ของหนี้ครัวเรือนไทยเป็นหนี้สินจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค และเป็นหนี้จากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด

ดังนั้น ธปท. จึงประกาศเดินหน้าโครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 3 เริ่ม 1 ก.พ. 2563 โดยปลดล็อกใน 3 เรื่อง ได้แก่

  • หนึ่ง ขยายขอบเขตให้สามารถแก้ไขหนี้บัตรที่มีเจ้าหนี้รายเดียวจากเดิมเจ้าหนี้หลายราย
  • สอง ครอบคลุมถึงหนี้บัตรที่อยู่ในกระบวนการของศาลและได้รับคำพิพากษาแล้ว (คดีแดง) จากเดิมเฉพาะลูกหนี้ไม่ถูกดำเนินคดีและอยู่ในกระบวนการเป็นคดีดำเท่านั้น 
  • สาม ขยายคุณสมบัติผู้เข้าโครงการจากเดิมมีหนี้บัตรที่เป็นเอ็นพีแอล (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2562 มาเป็นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2563 โดยหวังว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้สินจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดของประชาชนในแทบทุกกลุ่มได้

อีกทั้งในเฟสที่ 3 ยังครอบคลุมลูกหนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (หนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด) ของธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งล่าสุดมีธนาคารออมสินเข้าร่วมโครงการ)

นางธัญญนิตย์ ย้ำด้วยว่า ความพิเศษของโครงการคลินิกแก้หนี้ในระยะที่ 3 ยังมีเพิ่มเติมอีก 2 มิติ

  • มิติที่ 1 บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ บสส. (SAM) ยังคงทำหน้าที่เป็น 'ตัวกลาง' ช่วยเจรจา ประสานงานระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ให้แก้ปัญหาหนี้บัตรที่อาจมีเจ้าหนี้หลายรายเกิดขึ้นได้ โดยจะช่วยรวมหนี้ให้เบ็ดเสร็จ จากหลายสัญญาเป็นสัญญาเดียว ทำให้ลูกหนี้จะไม่ถูกทวงจากเจ้าหนี้หลายราย อีกทั้ง บสส. จะทำหน้าที่รับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้พร้อมกับจัดสรรเงินคืนหนี้ให้เจ้าหนี้ต่อไป 
  • มิติที่ 2 ลูกหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้จะได้รับการผ่อนปรนให้ผ่อนชำระหนี้เฉพาะเงินต้น โดยมีระยะเวลาผ่อนนานถึง 10 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4-7 จากปกติดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 28 ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ยอดผ่อนต่อเดือนไม่สูง เช่น หากมีหนี้ 50,000 บาท ยอดผ่อนชำระจะตกเดือนละประมาณ 600 บาท อีกทั้งเมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นตามสัญญาจะยกดอกเบี้ยค้างชำระให้ทั้งหมด 

"โครงการคลินิกแก้หนี้มีสถาบันการเงินทั้งแบงก์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นสมาชิกรวม 35 แห่ง และนับเป็นเครือข่ายช่วยเหลือประชาชนแก้หนี้บัตรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยมีธนาคารออมสินถือเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุดที่เข้าร่วมโครงการฯ" นางธัญญนิตย์ กล่าว

นอกจากนี้ โครงการคลินิกแก้หนี้ เฟส 3 ยังปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการ ทั้งกระบวนการทำงานให้รวดเร็วมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีและช่องทางสื่อสารทันสมัยเข้ามาอำนวยความสะดวก รวมถึงการทำงานเชิงรุก ขยายฐานลูกค้าโดยหาลูกค้าต่างจังหวัดมากขึ้น เปิดให้บริการวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และประสานกับศาลรวมถึงกรมบังคับคดีเพื่อหาข้อสรุปในขั้นตอนไกล่เกลี่ย ซึ่ง ธปท. คาดว่าน่าจะช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เปิดโครงการคลินิกแก้หนี้ เมื่อ 1 มิ.ย. 2560 ถึงสิ้นปี 2562 พบว่า มีลูกหนี้ยื่นใบสมัครเข้ารวมโครงการแล้ว 70,000 ราย แต่เข้าร่วมโครงการได้ 3,194 ราย ครอบคลุมบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดกว่า 13,000 ใบ หรือเฉลี่ยคนละ 3 ใบ ยอดเงินต้นเฉลี่ยคนละประมาณ 240,000 บาท ยอดผ่อนเฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท และมีระยะเวลาชำระเฉลี่ย 91 เดือน (หรือ 7.5 ปี) และในจำนวนนี้ สามารถชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 72 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของผู้เข้าโครงการทั้งหมด (3,194 ราย) 

"ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2560 มีลูกหนี้ที่ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ในปี 2560 จำนวน 560 ราย ปี 2561 จำนวน 527 ราย และพอปี 2562 ซึ่งมีการปลดล็อก ให้ครอบคลุมลูกหนี้นอนแบงก์ เป็นเอ็นพีแอลก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2562 และเป็นลูกหนี้คดีดำ จึงทำให้มีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดมาเป็นจำนวน 2,107 ราย ส่วนปีนี้ เมื่อมีการทำเฟส 3 คาดว่าจะมีจำนวนผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หรือเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ราย จากปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3,194 ราย" นางธัญญนิตย์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: