ไม่พบผลการค้นหา
'คลินิกแก้หนี้' ขยายเกณฑ์คุณสมบัติิลูกหนี้ เพิ่มโอกาสช่วยคนปลดหนี้ ไม่ต้องมีเงิินเดือนประจำ -เป็นเอ็นพีแอลก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2561 สมัครเข้าโครงการได้ ฟาก บสส.เผย 10 เดือนหลังเปิดโครงการ มีผู้ยื่นใบสมัครกว่า 3.3 หมื่นราย ผ่านเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติเข้าโครงการได้ 1,074 ราย

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ประธานกรรมการ บริษัท สินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ในฐานะหน่วยงานกลางแทนเจ้าหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (1 มิ.ย. 2560-31 มี.ค. 2561) โครงการคลินิกแก้หนี้ มีผู้ยื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 33,766 ราย แต่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ 1,074 ราย ซึ่งนับเป็นร้อยละ 30 ของผู้ยื่นใบสมัคร ส่วนอีกร้อยละ 70 ที่ไม่ผ่านการพิจารณคุณสมบัติ เกิดจากเป็นกลุ่มที่ไม่ตรงกับข้อกำหนด เช่น ยังชำระขั้นต่ำอยู่ ยังไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้นอนแบงก์

สำหรับผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ และเข้าสู่กระบวนการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวน 594 ราย มีมูลหนี้รวม 130 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลหนี้เฉลี่ยรายละ 220,000 บาท และมีเจ้าหนี้เฉลี่ย 3 รายขึ้นไป

ขณะที่ มีผู้ออกจากโครงการคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ซึ่งมีปัจจัยแตกต่างกัน อาทิ บางรายถูกเลย์ออฟแล้วได้เงินก้อนไปชำระหนี้ หรือบางรายเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันแล้วไม่มีเงินพอผ่อนชำระ จึงขอออกจากโครงการ ซึ่งสำหรับคนที่ออกจากโครงการกลางคัน ทางคลินิกแก้หนี้ ระบุว่ามีข้อยืดหยุ่นให้ หากคนเหล่านี้พร้อมกลับมาปรับโครงสร้างหนี้ก็สามารถกลับเข้ามาได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในสิ้นเดือน เม.ย. นี้จะมีลูกหนี้เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และชำระหนี้เสร็จสิ้นเป็นรายแรกเกิดขึ้น 

คลินิกแก้หนี้.jpg

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การดำเนินงานของโครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นโครงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริษัท สินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) และธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและต่างประเทศ 16 แห่ง ร่วมการดำเนินการ ด้วยความตั้งใจแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้เห็นความสำเร็จของการแก้ปัญหาหนี้ให้ประชาชนดีในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พบว่า ยังมีลูกหนี้บางส่วนที่ขาดคุณสมบัติ และทำให้เสียโอกาสเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนมากขึ้น จึงได้ปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไข สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการให้มีความยืดหยุ่นและเปิดกว้าง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพหนี้ของลูกหนี้มากขึ้น อาทิ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2561 ปรับคุณสมบัติจากเดิมที่ต้องเป็นบุคคลธรรมดามีเงินเดือนประจำ มาเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ รวมถึงปรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ให้ยืดหยุ่นขึ้น 

ขณะที่ ล่าสุดได้ขยายขอบเขตผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือนกับสถาบันการเงิน 2 แห่งขึ้นไป และเป็นหนี้ก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2561 ครอบคลุมทั้งกลุ่มที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี และกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีแล้ว แต่ยังไม่มีคำพิพากษา สามารถเข้าร่วมโครงกรได้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้เป็นต้นไป

พร้อมกับคาดหวังว่า เมื่อขยายขอบเขตของผู้ร่วมโครงการแล้ว จะทำให้มีผู้สามารถเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นหลังจากปรับเกณฑ์ อีกประมาณ 50,000 ราย และมีมูลหนี้เฉลี่ยรายละ 400,000 บาท 

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์ที่ขยายให้นี้เป็นการสร้างความยืดหยุ่นให้กับลูกหนี้ เพื่อให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การแก้ไขพระราชการกำหนด (พ.ร.ก.) บริษัทบริหารสินทรัพย์ก็ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งส่วนนั้น หากกฎหมายแก้ไขเสร็จมีผลบังคับใช้ ก็จะสามารถดึงลูกหนี้ของสถาบันการเงินกลุ่มนอนแบงก์เข้ามาร่วมในโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

คนไทยมีหนี้เฉลี่ย 1.7 แสนบาทต่อครัวเรือน

เปิดทำการคลินิกแก้หนี้ คาดปีแรกมีลูกค้า 3,000 ราย

คลินิกแก้หนี้ หนทางใหม่ คลายทุกข์ลูกหนี้