ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ พร้อมผู้นำชุมชน สำรวจ 2 โครงการแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วมแม่น้ำยม-น่าน งบ 3 พันล้านบาท ขอบคุณรัฐบาล-กรมชลประทานช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน จังหวัดสุโขทัย 7 ตำบล ประมาณ 120 คน ติดตามสำรวจโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน งบประมาณ 2,875 ล้านบาท และโครงการระบายน้ำยม-น่าน (YN-3) งบประมาณ 50 ล้านบาท

พร้อมกับกล่าวว่า โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน เกิดจากสภาพปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ที่นำความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนอย่างหนักในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยเมื่อปี 2559 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ออกแบบและนำเสนอโครงการผันน้ำคลองยม-น่าน ต่อกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการดำเนินการศึกษาสำรวจ เก็บข้อมูลพื้นที่ โดยตนในขณะดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. สุโขทัย ได้ร่วมสำรวจและให้ข้อมูล พร้อมผลักดันและติดตามโครงการอย่างต่อเนื่อง จนบรรจุเข้าในแผนงานและได้รับการจัดสรรงบประมาณ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณตามโครงการดังกล่าว 2,875 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นโครงการ 5 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2563–2567 โดยการตัดยอดน้ำบางส่วน จากแม่น้ำสายหลักเพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับปริมาณน้ำได้ เริ่มจากจุดรับน้ำคลองหกบาท ต.ป่ากุ่มเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ไปยังจุดระบายน้ำลงแม่น้ำน่าน ต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ โครงการนี้จะเริ่มในปี 2564 เมื่อโครงการเสร็จจะบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ จ.สุโขทัย 15 ตำบล 27 หมู่บ้าน 5,340 ครัวเรือน และกักเก็บน้ำในแนวคลองไว้ใช้อุปโภคบริโภคการเกษตรและปศุสัตว์ ในฤดูแล้งซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,300 ไร่

นางพรรณสิริ กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการระบายน้ำยม-น่าน (YN-3) เกิดจากปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่สุโขทัย พบว่าสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ โดยการเปิดทางน้ำให้กว้างขวางขึ้นในพื้นที่ยมฝั่งซ้าย ซึ่งได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฏร เมื่อ 4 ก.ค. 2562 เพื่อให้ขุดลอกทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน เส้นทางประตูระบายน้ำ YN-3 ต.ท่ามะเฟือง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ไปยังคลองกะเปา เชื่อมกับคลองน้ำไหล ที่ไหลมาจาก ต.ศรีนคร ผ่านไปยังประตูระบายน้ำคลองลัด จุดเชื่อมต่อระหว่าง ต.ปากน้ำ อ.สวรรคโลก และต.สามเรือน อ.ศรีสำโรง

ทั้งนี้ นอกจากในพื้นที่ จ.สุโขทัยจะได้รับประโยชน์แล้ว ยังส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก รวม 6 อำเภอ 13 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ราว 16,000 ไร่ อีกด้วย ซึ่งตนในนามพี่น้องประชาชนชาวสุโขทัย ขอขอบคุณรัฐบาล กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มุ่งมั่นตั้งใจแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งให้อย่างดียิ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :