คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ได้พิจารณาการทบทวนการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต คลอไพริฟอส และ ไกลโฟเซต หลังมีมติ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 ประกาศให้ 1 ธ.ค. 2562 นี้ ไทยจะต้องไม่ให้เกษตรกรใช้ 3 สาร ด้วยเหตุผลที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ พรรคภูมิใจไทย ถือเป็นนโยบายที่สำคัญ เพราะเหตุผล ห่วงสุขภาพเกษตรกร และประชาชนตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรรคภูมิใจไทย
การประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชุดนี้ถือการประชุมนัดแรก ที่นายสุริยะ เป็นประธาน หลังข้อสั่งการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน หากมีการแบนใครได้ใครเสีย? หากไม่แบนใครได้ใครเสีย?
การประชุมกินเวลานานมากกว่า 4 ชั่วโมง กระทั่ง นายสุริยะ ออกมาแถลงพร้อม นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การหารือครั้งนี้ได้นำข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงผลกระทบทั้งต่อเกษตรกร อุตสาหกรรมการเกษตร ที่ประชุมจึงมีมติให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 สำหรับวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561
โดย มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำข้อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือน
จากข้อมูล 'สารเคมี' ตกค้างในพืชผักผลไม้ 'ไทยแพน' สู่การแบน 3 สาร
ถือเป็นการจุดชนวนระเบิดให้เกิดรอยร้าวหนักระหว่าง น.ส.มนัญญา พรรคภูมิใจไทย และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะหลังมติครั้งนี้ น.ส.มนัญญา ประกาศของคืนกรมวิชาการเกษตร ที่ดูแลการขึ้นทะเบียนสารเคมี ออกหลักเกณฑ์การใช้ต่างๆ นานา ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมวิชาการเกษตรไม่เชื่อฟัง โดยขอแลกกับกรมชลประทาน ด้วยให้เหตุผลกรมชลประทานสำคัญมาก สถานการณ์น้ำตอนนี้น่าเป็นห่วง
การเรียกร้องให้แบนทั้ง 3 สารชนิดนี้เริ่มจาก 'ไทยแพน' หรือ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช นำเสนอผลการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในผักผลไม้ เมื่อเดือน ส.ค. 2559 ในผักที่ประชาชนนิยมบริโภค 10 ชนิด และผลไม้อีก 6 ชนิด พบว่ามีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกชนิด โดยพบสารพิษ ซึ่งคือ สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ตกค้างรวม 66 ชนิด ประกอบด้วยสารกำจัดไร 2 ชนิด, สารกำจัดวัชพืช 1ชนิด คือ อะทราซีน, สารกำจัดแมลง 40 ชนิด และ 4 สารกำจัดโรคพืช 23 ชนิด
ต่อมาในวันที่ 21 พ.ย. 2560 ไทยแพนแถลงผลการเฝ้าระวังประจำปี พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผักยอดนิยม 5 ชนิด ได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กระเพรา และกะหล่ำปลี ผักพื้นบ้านยอดฮิต 5 ชนิด บัวบก ชะอมตำลึงและสายบัว ไม่ระบุอีก 1 ชนิด และผลไม้ 6 ชนิด คือ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว และ สับปะรด มีสารพิษปนเปื้อนเกินมาตรฐาน
รายงานในปี 2559 พบสารกำจัดแมลงคลอไพริฟอสชนิดหนึ่งจาก 40 ชนิด และสารกำจัดหญ้า คือ อะทราซีน แต่ไม่พบสารพาราควอตกับไกลโฟเซต ต่อมาในปี 2560 ไทยแพน พบพาราควอตและไกลโฟเซตตกค้างในผักและผลไม้ในระดับสูงถึงร้อยละ 55 ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะผักที่ถูกสารดังกล่าวจะไหม้ตายไป ก่อน
ด้านกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ผลการประชุมรวม 5 ครั้งได้กำหนดชนิดของสารที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด คือ ไกลโฟเชต พาราควอต และคลอไพริฟอส และให้ยกเลิกการใช้ภายในเดือน ธ.ค. 2562 ไม่ให้ขึ้นทะเบียน ไม่ให้ต่อทะเบียน และยุติการนำเข้าสารดังกล่าว ภายใน 1 ธ.ค. 2561
ในส่วนของไกลโฟเซตให้จำกัด การใช้ด้านการเกษตรอย่างเข้มงวดในพื้นที่ประเกทต่าง ๆ เช่น ที่สูง ที่ต้นน้ำ บริเวณแหล่งน้ำสาธารณะในเขตชุมชน
รัฐมนตรีใหม่ฟิต เข้ามาขยับเวลาแบนเร็วขึ้น
ฟากฝั่งกรมวิชาการเกษตร เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2560 ขณะนั้นมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และได้ถกเถียงว่าควรจะยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิดนี้หรือไม่ โดยตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา รวม 13 ครั้ง และเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 23 พ.ค. 2561 โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า "ควรใช้แนวทางจำกัดการใช้ทั้ง 3 สารแทน"
คณะกรรมการยังมีมติมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักจัดทำแผนในการดำเนินมาตรการตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ โดยให้นำเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณา ภายใน 60 วัน ให้จำกัดการใช้
มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายดังกล่าว ส่งถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีหนังสือถึง อธิบดีกรมโรงงานเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 ระบุว่าจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า พาราควอต ที่ใช้ในการเกษตร เป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตต่อร่างกายของผู้ใช้และผู้ได้รับสารเคมีโดยไม่ตั้งใจ จึงให้ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 โดยให้ ออกประกาศภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ ซึ่ง คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประชุมในวันที่ 15 ม.ค. 2562 พิจารณาแล้วมีมติให้ใช้มติเดิมคือ การใช้แนวทางจำกัดการใช้ทั้ง 3 สารแทน
การเข้านั่งเก้าอี้ รมช.เกษตร ฯ ที่ดูแล กรมวิชาการเกษตรของน.ส.มนัญญา ประกาศล้อกับกระทรวงสาธารณสุข ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จากพรรคเดียวกัน ด้วยเหตุผลเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพื่อให้ประเทศไทย แผ่นดินไทย ปลอดจากสารพิษ
เหมือนทุกอย่างจะจุดติด
น.ส.มนัญญา ประกาศก้าวจะใช้มติการแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ที่ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2560 โดยเริ่มดำเนินการด้วยการขอข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรด้วยตนเอง ออกไปตรวจสต็อก จนมีกระแสความข้องใจ เพราะมีมวลชนให้ความสนใจ มีทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายสนับสนุนเกิดขึ้น
น.ส.มนัญญา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยฯ ดูแลกรมวิชาการเกษตร ต้นเรื่องการรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้น หากแบนสารเคมีทางการเกษตร จึงเรียกประชุมโดยอ้างคำสั่งนายกฯ เชิญผู้เกี่ยวข้องฝั่งรัฐและเกษตรอินทรีย์ เข้าเป็นกรรมการ ผลโหวตคือ แบน 3 สารตามนโยบายนายกรัฐมนตรี นำมาสู่การแบนการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 นี้เป็นต้นไป
'สุขภาพ-อุตสาหกรรมอาหารสัตว์อาหารคน' ทางแยกการ 'แบน/ไม่แบน'
หากยืนมติการแบน 1 ธ.ค. 2562 หมายถึง 3 สารในประเทศไทย ต้องมีค่าเป็น 'ศูนย์' นั่นหมายถึงการนำเข้าตามกฎองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะทำให้การนำเข้าผลผลิตเกษตรที่มีค่าเกิน 'ศูนย์' ไม่ได้ ทำให้ฝั่งผู้ประกอบการ ได้แก่ เกษตรกร ผู้ปลูกอ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังและ ผลไม้ 10 สมาคมอุตสาหกรรมอาหารเกษตรกรที่ต้องนำเข้า กากถั่วเหลือง เพื่อทำอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ หมู กุ้ง รวมถึงอุตสาหกรรมเบเกอรี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ต้องใช้แป้งสาลี นำเข้าจากประเทศต้นทาง ถือว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักหลายแสนล้าน
ส่งผลให้ 5ประเทศ คือ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา ทำหนังสือมาให้ไทยแจ้งรายละเอียดของการแบน 3 สาร พร้อมทั้งให้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันการตกค้างของสารเคมี ในผลผลิตด้านการเกษตร
เมื่อถามไปยังเจ้าของนโยบาย น.ส.มนัญญา และนายอนุทิน ว่า การแบน 3 สาร ตามกฎ WTO มีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันถึงพิษของสาร หรือ รู้หรือไม่ว่ากระทบการค้าระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมการเกษตรไทย ที่อาจล้มสลายได้ น.ส.มนัญญา กลับยังคงยืนหยัดในความคิดของตัวเองว่า "สารพิษ ก็คือพิษ" โดยขาดตรรกะ แนวคิด หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์มาหนุน ไม่ต่างอะไรกับเมื่อถามไปยัง นายอนุทิน ว่า ได้อ่านวิจัยเกี่ยวกับ 3 สาร หรือยัง ก็ได้คำตอบว่า "ไม่อ่าน ของไม่ดี ไม่จำเป็นต้องอ่าน"
ข้อถกเถียงกันกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้แบนสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด คือพาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเชต เป็นชนวนความชัดแย้งของสังคม แบ่งความคิด ความเชื่อเป็น 2 ฝ่าย มีการสื่อสารความเป็นอันตราย ใช้เทคนิคการต่อสู้เพื่อให้ได้รับชัยชนะ
เมื่อมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ไม่ได้เป็นดั่งที่ตั้งธงไว้ เรื่อง 3 สารเคมีทางการเกษตรอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ หากพรรคพลังประชารัฐหรือผู้ใหญ่ของพรรคร่วม อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่เข้ามาห้ามทัพเรื่องนี้อาจร้าวลึกไปถึงการต่อรองคะแนนเสียง หรือการยกมือโหวตมติต่างๆ ที่ต้องการผ่านสภาผู้แทนราษฎรของพรรครัฐบาล
หรือเรื่องทั้งหมดจะไม่วุ่นวาย เพียงแต่ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าเจรจากัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :