ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเสริมสภาพคล่อง 'ประมงพาณิชย์-ประมงพื้นบ้าน' วงเงิน 10,300 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ผ่อนชำระนาน 7 ปี ดำเนินการผ่าน 'ออมสิน-ธ.ก.ส.' พร้อมตั้งงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยแบงก์รัฐ 2,163 ล้านบาท

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 มีมติเห็นชอบอนุมัติสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอจัดหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน วงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี โดยผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3 ส่วนที่เหลือร้อยละ 4 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ มีระยะเวลาโครงการ 8 ปี นับจากวันที่ ครม. มีมติอนุมัติโครงการ และกำหนดชำระคืนเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปี นับแต่วันกู้

สำหรับผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ สามารถติดต่อขอสินเชื่อกับธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ตามขนาดเรือประมง แบ่งเป็น 

  • กรณีวงเงินสินเชื่อของธนาคารออมสิน จำนวน 5,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป สามารถขอสินเชื่อวงเงินสูงสุดไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท
  • กรณีวงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จำนวน 5,300 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงต่ำกว่า 60 ตันกรอส สามารถขอสินเชื่อวงเงินสูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม กรณีเจ้าของเรือที่มีขนาดเรือประมงทั้ง 2 ประเภท ให้สามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารได้เพียงแห่งเดียว ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข คือ ผู้กู้ต้องเป็นบุคคลธรรมดาอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย, เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในเรือประมงที่มีทะเบียนเรือไทย และเป็นผู้ประกอบการประมงที่มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี สามารถขอวงเงินสินเชื่อได้ 2 ประเภท ได้แก่ เงินกู้ระยะสั้น ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน หรืออื่นๆ ตามที่ธนาคารกำหนด เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ และเงินกู้ระยะยาว เพื่อเป็นเงินทุนในการปรับปรุงเรือประมง ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ทำการประมง

ส่วนเรื่องหลักประกันเงินกู้ให้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน ดังนี้ (1) ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่มีหนังสือแสดงเอกสารสิทธิสามารถจดทะเบียนจำนองได้ หรืออาคารชุด (2) เรือประมง (3) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) (4) บุคคลค้ำประกัน และ (5) หลักประกันอื่น ๆ ตามที่ธนาคารประกาศกำหนด

"นี่เป็นครั้งแรกที่สามารถนำเรือประมงที่ขึ้นทะเบียนแล้ว มาเป็นหลักประกันเงินกู้" น.ส.รัชดา กล่าว

ส่วนกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 2,164.1 ล้านบาท ประกอบด้วย 

(1) วงเงินชดเชยดอกเบี้ยของธนาคารออมสิน อัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันกู้ เป็นระยะเวลา 7 ปี จากวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ปีละ 150 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 1,050 ล้านบาท 

(2) วงเงินชดเชยดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส. อัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันกู้ เป็นระยะเวลา 7 ปี จากวงเงินสินเชื่อ 5,300 ล้านบาท ปีละ 159 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 1,113 ล้านบาท

(3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการของกรมประมงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประชุมชี้แจง ประชาสัมพันธ์โครงการ และติดตามโครงการ รวมเป็นวงเงินดำเนินงาน 1.1 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ตามที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินการโครงการ และให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. สามารถนำค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้เพื่อบวกกลับเป็นรายได้ของธนาคาร และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้ และให้แยกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account - PSA)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :