ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนผู้ค้าบริการชี้ 'การล่อซื้อ' ในคดีปราบปรามการค้าประเวณีเป็น 'ดาบสองคม' ทำให้เกิดการตีตรา-ละเมิดสิทธิผู้ถูกจับกุม แต่ไม่อาจดำเนินคดีกับผู้แสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ที่แท้จริงได้ พร้อมระบุ นานาชาติแนะไทยยกเลิกความผิดฐานค้าประเวณี เน้นคุ้มครองสิทธิผู้ขายบริการแทน

ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2561 ถูกจัดให้เป็นสัปดาห์แห่งการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ทั้งยังเป็นวาระครบรอบ 10 ปีที่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 แต่สถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยยังทรงตัว อ้างอิงการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ (TIP Report) จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่ม Tier 3 (ระดับต่ำสุด) สลับกับกลุ่ม Tier 2 (เฝ้าระวัง) นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งเคลื่อนไหวด้านการคุ้มครองสิทธิผู้ประกอบอาชีพบริการ จึงจัดเสวนาเรื่อง “จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันนี้ (1 มิ.ย.) เพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการล่อซื้อ-จับกุม ซึ่งมีทั้งการเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์รวบรวมข้อมูลผู้ขายบริการในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ขายบริการอยู่ประมาณ 300,000 คน ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ถูกจับกุมจากการปราบปรามการค้าประเวณีที่สถานบริการต่างๆ ประมาณ 300 คน แต่ผู้ถูกจับกุมไม่ใช่ผู้ขายบริการทุกคน บางส่วนถูกจับกุมตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่พูดถึง "ผู้ใดเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น" ก็ถือว่ามีความผิดด้วยเช่นกัน

'ให้บริการโดยสมัครใจ' ไม่ใช่ 'ค้ามนุษย์'

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ระบุว่า การจัดทำรายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กลายเป็นกลไกในการควบคุมและกำกับดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง และอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำของสหรัฐฯ เน้นการปราบปรามการค้าประเวณี ทำให้รัฐบาลหลายประเทศมีความคิดว่า "การค้าประเวณีเท่ากับการค้ามนุษย์"

ล่อซื้อ-เอ็มพาวเวอร์-คลุมโม่ง

แม้ว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์และค้าประเวณี แต่กฎหมายที่ใช้ก็มีทั้ง 'ปกป้อง' และ 'ลงโทษ' ซึ่งในกรณีของผู้หญิงที่ถูกจับในคดีค้าประเวณี กลับไม่ได้รับการปกป้อง และมักจะถูก 'ละเมิดซ้ำ' จากกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการบุกจับกุมโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเจ้าหน้าที่มักใช้วิธีการ 'ล่อซื้อ' ซึ่งเป็นการล่อลวงให้กระทำความผิด เช่น มีการแฝงตัวมาทำความคุ้นเคย ทำความรู้จัก จนผู้ถูกล่อซื้อรู้สึกไว้ใจ เมื่อถูกชักชวนให้มีความสัมพันธ์จึงยินยอม ทั้งที่ในความเป็นจริง อาจเป็นความพึงพอใจส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวกับการค้าประเวณี แต่เมื่อไว้เนื้อเชื่อใจกลับถูกเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าจับกุม ในบางครั้งก็มีการนำสื่อมวลชนเข้ารายงานข่าว

บางกรณี ผู้ถูกจับกุมถูกเปิดเผยตัวตน ทำให้ได้รับผลกระทบไปถึงครอบครัวและสังคมรอบตัว แต่ในบางกรณี ผู้ถูกจับกุมก็ถูกตัดขาดไม่ให้ติดต่อกับครอบครัว ถูกสอบปากคำอย่างหนัก หรือถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานหลายเดือน ภายใต้กระบวนการที่อ้างชื่อว่า 'การคุ้มครองเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์'

อย่างไรก็ตาม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือซีดอ (CEDAW) ซึ่งทางการไทยได้ให้สัตยาบันไว้แล้ว มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่ระบุให้แต่ละประเทศ 'ยกเลิกความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับการค้าประเวณี' และให้คุ้มครองสิทธิผู้ขายบริการโดยสมัครใจ เช่นเดียวกับการคุ้มครองแรงงานที่ประกอบอาชีพอื่นๆ

ทันตาระบุว่า ตัวแทนของรัฐบาลไทยได้เคยยืนยันในเวทีการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2560 ว่า "ไทยไม่มีนโยบายล่อซื้อ" สวนทางกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุกเข้าจับกุมและปราบปรามการค้าประเวณีที่สถานบริการ 'วิคตอเรีย ซีเคร็ท' โดยใช้วิธีการล่อซื้อ ส่วนผู้ถูกจับกุมจากกรณีวิคตอเรีย ซีเคร็ท มีทั้งผู้ขายบริการโดยสมัครใจ และผู้ที่ทำงานบริการอื่นๆ รวมถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ล่อซื้อ-เอ็มพาวเวอร์-คลุมโม่ง

อำนาจของ 'คนซื้อ' กับ 'คนขาย' ไม่เท่ากัน

การจับกุมผู้ขายบริการโดยใช้วิธี 'ล่อซื้อ' ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในระดับสากลด้วยเช่นกันว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และในกรณีของประเทศไทย ผู้ขายบริการจำนวนหนึ่งมองว่าวิธีการล่อซื้อเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมทางเพศ เพราะผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่คือผู้หญิงขายบริการและผู้ที่ทำงานในสถานบริการ ซึ่งมักจะถูกนำตัวมาแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน แต่ผู้ชายที่ซื้อบริการกลับได้รับการปล่อยตัวและไม่ถือว่ามีความผิด

'ไหม จันทร์ตา' ตัวแทนผู้ขายบริการและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้เข้าไปพูดคุยและรับฟังปัญหาของผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวจากการบุกล่อซื้อในสถานบริการ โดยไหมย้ำว่ากรณี 'วิคตอเรีย ซีเคร็ท' เป็นคดีใหญ่ที่สื่อให้ความสนใจ แต่จริงๆ แล้วยังมีการล่อซื้อและจับกุมอีกหลายครั้งช่วงปีที่ผ่านมา แต่ว่าไม่เป็นข่าว และมีผู้ถูกจับกุมรวมทั้งหมดกว่า 200 คน

ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปีที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่จะถูกกักตัวเป็นพยาน ในฐานะที่เป็น 'เหยื่อการค้ามนุษย์' ตามคำนิยามของกฎหมายป้่องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และค้าประเวณีของไทย ซึ่งพยานเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อครอบครัว เพราะเจ้าหน้าที่เกรงว่าครอบครัวจะเป็นผู้เกี่ยวข้องในการส่งตัวผู้อายุต่ำกว่า 18 ปีมาขายบริการ ส่วนผู้ถูกควบคุมตัวที่ขายบริการโดยสมัครใจ กลับไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น เช่น ผู้ที่เป็นชาวต่างชาติ ทั้งเมียนมาและลาว ถูกส่งตัวไปห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งมีสภาพแออัด ไม่มีของใช้ที่จำเป็นให้ เช่น ผ้าอนามัย นอกจากนี้ ยังเคยมีกรณีผู้ถูกควบคุมตัวขอยาแก้ไข้ แต่กลับได้รับยาหมดอายุ


"เจ้าหน้าที่บอกว่ายายังกินได้ ยังไม่ขึ้นรา ไม่ตายหรอก เพราะไม่มีงบ ก็ได้แต่คิดว่า ถ้าไม่มีเงินจะดูแล แล้วจะเอาพวกเรามาขังทำไม" ไหมกล่าว


นอกจากนี้ ชาวต่างชาติที่ถูกกันเป็นพยานจนสิ้นสุดกระบวนการสืบสวนสอบสวน มักลงเอยด้วยการถูกบันทึกประวัติว่าเกี่ยวพันกับคดีอาญา และถูกห้ามเข้าประเทศไทยเป็นเวลา 100 ปี ซึ่งมีกรณีของ 'น้ำหวาน' ผู้ขายบริการชาวลาวรายหนึ่ง มีบุตรและญาติอยู่ในประเทศไทย แต่ตัวเองถูกส่งกลับประเทศลาว และไม่มีโอกาสเดินทางกลับเข้ามาไทยอีกครั้งเพื่อพบครอบครัว เพราะถูก 'ตีตรา' จากทางการไทยไปเรียบร้อยแล้ว

ค้าประเวณี = วิถีชีวิตและเศรษฐกิจแบบไทยๆ

ในกรณีหนึ่ง ผู้ถูกจับกุมในคดีค้าประเวณีมีอายุเกิน 18 ปี และถูกกักตัวเป็นพยาน ร้องขอการสืบพยานโดยไม่เผชิญหน้ากับผู้ต้องหาคดีแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี กลับถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ โดยระบุว่าการสืบพยานแบบไม่เผชิญหน้าจะทำได้ก็ต่อเมื่อพยานอายุไม่ถึง 18 ปี ซึ่งกรณีนี้ 'อังคณา นีละไพจิตร' กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยืนยันว่า หากพยานรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้สืบพยานแบบไม่มีการเผชิญหน้าได้

คลุมโม่ง

(ผู้เข้าร่วมเสวนาเรื่อง 'ล่อซื้อฯ' ทำกิจกรรมต่อต้านการ 'คลุมโม่ง' เพื่อจี้ยกเลิกการนำตัวผู้ถูกจับกุมมาแถลงข่าว)

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกล่อซื้อถูกนำตัวมาแถลงข่าวโดย 'คลุมโม่ง' เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เข้าข่ายละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยอังคณาอ้างอิงงานวิจัยของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่าผู้ถูกคลุมโม่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้กระทำความผิด เป็นคนร้าย เป็นคนที่น่ารังเกียจ และเป็นคนที่ถูกสังคมประณาม ขณะที่เจ้าหน้าที่มองว่าการคลุมโม่งจะช่วยปิดบังสถานะของผู้ถูกล่อซื้อ แต่ผู้เป็นเจ้าของสถานบริการ หรือผู้ที่ซื้อบริการ กลับได้รับการปฏิบัติคนละแบบ ไม่มีการนำตัวมาแถลงข่าว

อังคณาระบุด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติด้านการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่สังเกตการณ์ในประเทศไทยช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยมีบทลงโทษการค้าประเวณี แต่ก็มีสถานบริการต่างๆ ปะปนอยู่กับวิถีชีวิตของผู้คนจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนเรียกได้ว่าเป็น way of life อย่างหนึ่ง แต่กรณีการบุกจับกุมในคดีค้าประเวณีในประเทศไทย เป็นการดำเนินการที่มีอคติกับผู้หญิงค้าประเวณี เพราะผู้ชายที่เป็นผู้ซื้อจะได้รับการปล่อยตัว แต่ผู้หญิงกลับถูก 'คลุมโม่ง'


"สังคมไทยเป็นสังคมหลอกตัวเองว่าเราเป็นสังคม 'ผัวเดียวเมียเดียว' แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ขณะเดียวกันก็ไม่คำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศสภาพ กระบวนการจับกุม ดำเนินการ ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้หญิงในระยะยาว"


อย่างไรก็ตาม อังคณาไม่สนับสนุนให้จับกุมผู้ชายที่ซื้อบริการ แต่มองว่าสังคมไทยต้องพิจารณาทบทวนเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคล หรือ Right to Privacy ซึ่งมองว่าบุคคลมีสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของตัวเอง เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่มองว่าการค้าบริการไม่มีความผิด เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล ถ้าบุคคลหนึ่งจะค้าบริการทางเพศก็ทำได้ แต่ต้องไม่จัดตั้งเป็นสถานบริการ ต่างจากของไทยซึ่งมี พ.ร.บ. คุ้มครองสถานบริการ แต่กลับมีการไล่จับกุมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการขายบริการ

จากกรณีดังกล่าว พ.ต.ท. กฤตธัช อ่วมสน ตัวแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ระบุว่า หากมีกฎหมายที่บังคับใช้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินตามกฎหมาย แม้จะไม่เห็นด้วยกับการจับกุมและควบคุมตัวผู้ขายบริการ เพราะทราบดีว่าผู้ขายบริการถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกละเมิด แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็จะถือว่ามีความผิดจึงต้องขอความร่วมมือจากองค์กรเอกชนและสังคมให้ช่วยกันกดดันเรื่องการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณี

ทันตา ในฐานะตัวแทนมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์และเครือข่ายปกป้องสิทธิมนุษยชน ยื่นข้อเสนอว่ารัฐบาลจะต้องพิจารณายกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับผู้ขายบริการ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการซีดอ ซึ่งเรียกร้องให้มีการส่งเสริมสภาพการทำงานและสิทธิแรงงานของผู้ประกอบอาชีพขายบริการ พร้อมย้ำว่า การดำเนินคดีผู้ขายบริการมีราคาที่ต้องจ่าย เพราะผู้ถูกจับกุมหรือกันตัวเป็นพยานจะหมดโอกาสหารายได้หรือประกอบอาชีพไประยะหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องมีการชดเชยเยียวยา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง