ไม่พบผลการค้นหา
วิเคราะห์ 100 วันที่มหาเธร์หวนคืนตำแหน่งเดิม และดูเหมือนเขาจะย้อนนำเอานโยบาย ' Look East Policy' กลับมาใช้อีกครั้ง ขวัญกำลังใจคนมาเลย์ดูจะดีขึ้น แต่จะมีอะไรท้าทายรออยู่หรือไม่

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม “แนวร่วมความหวังใหม่” หรือ Pakatan Harapan ซึ่งเป็นการรวมตัวของฝ่ายค้านเดิมและอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ชนะการเลือกตั้ง และมีคะแนนมากกว่าอย่างถล่มทลายเหนือคู่แข่งคือ “แนวร่วมแห่งชาติ” ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ส่งผลให้มหาเธร์ ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียยาวนานถึง 22 ปี คือระหว่างปี พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ. 2546 ได้กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง ในวัย 92 ปี

ชัยชนะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เนื่องจาก ก่อนหน้านั้นประชาชนมาเลเซียกล้ำกลืนกับปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงในยุคของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตช้าจนชะงักงัน อัต��าค่าครองชีพสูงสุดในประวัติศาสตร์ ปัญหาหนี้สาธารณะสูงจนน่าตกใจ ปัญหาทุนจีนและคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ทะลักเข้ามีอิทธิพลในกิจการและจับจองอสังหาริมทรัพย์ในมาเลเซีย และมีปัญหาการคอรัปชั่นขนานใหญ่

ทั้งนี้ มหาเธร์ ได้หาเสียงก่อนการเลือกตั้งไว้ว่า ถ้าตนชนะการเลือกตั้งได้กลับมาเป็นผู้นำมาเลเซียอีกครั้ง เขาจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ภายใน 100 วัน โดยจะปฏิรูประบบภาษีและจะทบทวนโครงการขนาดยักษ์ต่างๆ ที่ นาจิบ ราซัค ได้ริเริ่มไว้

หลังรับตำแหน่งในวันที่ 10 พฤษภาคม มหาเธร์เริ่มบทบาทการเป็นผู้นำที่เด็ดขาดในช่วงเดือนแรก ด้วยการอภัยโทษ อันวาร์ อิบราฮิม คู่ปรับเก่าทางการเมืองของมหาเธร์ ซึ่งเคยนำประชาชนเดินขบวนประท้วงมหาเธร์ จนถูกจับติดคุกข้อหามีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกัน ในขณะเดียวกันมหาเธร์ก็ดำเนินการเอาผิดกับอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค และพรรคพวกในข้อหาคอรัปชั่น  

ในเดือนมิถุนายน มหาเธร์ เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยอนาคตของเอเชีย แล้วประกาศหลักการที่ว่าประเทศในภูมิภาคควรศึกษาการพัฒนาจากประเทศเอเชียด้วยกัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่า มหาเธร์กำลังนำนโยบายเก่าของเขาเมื่อปี พ.ศ. 2529 กลับมาใช้ คือ นโยบายมุ่งมองตะวันออก หรือ Look East Policy ซึ่งหมายถึงการที่มาเลเซียลดการพึ่งพาตะวันตกทางเศรษฐกิจแล้วหันไปมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น แต่ในยุคนี้มหาเธร์คงทำไปเพื่อลดอิทธิพลของจีนต่อเศรษฐกิจมาเลเซีย และที่สำคัญคือญีปุ่นยุคนี้ไม่ได้มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและร้อนแรงเหมือนในอดีต

เดือนกรกฎาคม มหาเธร์ ประกาศระงับโครงการขนาดยักษ์ที่ นาจิบ ราซัค ริเริ่มไว้ทั้งหมด รวมทั้ง 3 โครงการสำคัญที่เป็นโครงการร่วมมือกับจีน มูลค่าสูงราว 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้แก่ โครงการสร้างท่อส่งน้ำมัน 2 สัญญา กับ China Petroleum Pipeline Bureau หรือ CPPB วิสาหกิจขนาดยักษ์สัญชาติจีนที่มีรัฐบาลจีนถือหุ้น โครงการพัฒนาการขนส่งเชื่อชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ East Coast Rail Link หรือ ECRL กับ China Communication and Construction Company หรือ CCCC บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนที่มีเส้นสายระดับสูง และระงับโครงการที่จะอนุญาตให้คนต่างชาติมีสิทธิซื้ออสังหาริมทรัพย์ในโครงการ Forest City ซึ่งเป็นโครงการสร้างเมืองใหม่มูลค่าแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ชายแดนรัฐยะโฮร์ ทำให้กระทบต่อนายทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้อย่างมาก เพราะได้มีการเปิดให้ชาวจีนจำนวนมากจับจองไปแล้ว

มหาเธร์ไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม แล้วขอยุติโครงการทั้ง 3 ข้างต้นอย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่ความผิดของฝ่ายจีน แต่เพราะเหตุผลที่ว่าฝ่ายทางการมาเลเซียไม่มีเงินมากพอจะดำเนินโครงการเหล่านั้นต่อเพราะกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักและได้รับผลกระทบจากการคอรัปชั่นของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค 

ในขณะเดียวกัน ก็มีข่าวลือว่า ทีมที่ปรึกษาของมหาเธร์ แนะนำให้นำนโยบาย “ภูมิบุตร” กลับมาใช้ ซึ่งนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนมาเลเซียที่มีเชื้อสายมาเลย์แท้ๆ เพื่อกีดกันคนเชื้อสายจีนและชาวจีนที่กำลังมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในมาเลเซีย แต่ก็มีกระแสต่อต้านว่าเป็นนโยบายที่สร้างความแตกแยกในชาติ ดังนั้น ข่าวลือนี้จึงเงียบหายไป

วันที่ 1 กันยายน มหาเธร์ เริ่มใช้ระบบภาษีการขายและการบริการ หรือ Sales and Services Tax หรือ SST แทนที่ระบบภาษีสินค้าและบริการ หรือ Goods and Services Tax หรือ GST  เพื่อให้สินค้าและบริการมีราคาถูกลงโดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ดี มีเสียงวิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ว่าระบบภาษีเช่นนี้จะทำให้ทางการมาเลเซียเก็บเม็ดเงินภาษีได้น้อยลงมาก และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว 

เวลา 100 วัน นั้นครบแล้วตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่การดำเนินนโยบายของมหาเธร์ส่งผลทำให้ขวัญกำลังใจและความเชื่อมั่นของประชาชนมาเลเซียดีขึ้นมาก เพราะภาพของมหาเธร์ในสายตาของประชาชน คือ วีรบุรุษ เป็นผู้นำประเทศที่เคยพามาเลเซียผ่านพ้นวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2540

อย่างไรก็ดี ต้องจับตามองกันต่อไปยาวๆ ว่ารัฐบาลมหาเธร์ยุคสองนี้ จะทำให้มาเลเซียผ่านพ้นวิกฤตได้เหมือนยุคแรกหรือไม่