ไม่พบผลการค้นหา
มักมีคนจำนวนมากที่ไม่มีความรู้และเข้าใจผิดว่าประเทศอื่นไม่มีสิทธิสังเกตการณ์การเมืองภายในของประเทศไทย และไม่มีสิทธิวิจารณ์การเมืองของประเทศไทย เพราะการเมืองภายในของประเทศไทยเป็นเรื่องภายในประเทศของไทย ทางการไทยสามารถจะทำอะไรอย่างไรก็ได้ เพราะเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยในฐานะประเทศเอกราช

แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ของทางการประเทศต่างๆ และบรรดาองค์กรเอกชนต่างๆ มีสิทธิโดยชอบที่จะสังเกตการณ์การเมืองภายในของไทย และมีสิทธิวิจารณ์การเมืองของไทย

ทั้งนี้ เพราะไทยเป็นสมาชิกของสังคมโลก และได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามกติกาสากลในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวคือ ไทยได้ลงนามเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Right หรือ ICCPR) ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และยินยอมให้มีผลผูกพันที่ไทยต้องปฏิบัติตามในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2540

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ถูกร่างโดยองค์การสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 แล้วลงนามโดยนานาชาติในปี พ.ศ. 2509 ซึ่งในช่วงเวลานั้นไทยปกครองโดยรัฐบาลทหารจึงปฏิเสธไม่เป็นภาคีของกติกาสัญญา จนกระทั่งหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่รัฐบาลทหารของ รสช. ได้ทำการปราบปรามสังหารผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพลเอกสุจินดา คราประยูร ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสื่อมเสียอย่างมาก ถูกนานาประเทศมองว่า ไม่เคารพสิทธิทางการเมืองของพลเมือง มีการรัฐประหารซ้ำซาก และมีการปราบปรามสังหารประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยกลางถนนกลางเมืองหลวงโดยฝีมือของรัฐบาลทหาร ด้วยเหตุนั้น กระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวตั้งตัวตีที่ผลักดันอย่างต่อเนื่องให้ไทยเป็นภาคีในกติกานี้ เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ของประเทศ หรือ “ล้างอาย” นั่นเอง

เนื้อหาของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือ ICCPR นี้ แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งระบุเกี่ยวกับสิทธิของพลเมืองในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง ส่วนที่สองระบุเกี่ยวกับการที่รัฐต้องเคารพและประกันสิทธิของบุคคลโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยข้ออ้างด้าน เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา สถานทางเศรษฐกิจ และ ความเห็นทางการเมือง หรือข้ออ้างอื่นใด ส่วนที่สามระบุเกี่ยวกับรายละเอียดของสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่น เสรีภาพในการมีชีวิต เสรีภาพจากการถูกทรมาน สิทธิที่จะไม่ถูกรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีตามอำเภอใจ และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ส่วนที่ห้าระบุถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และพันธกรณีของรัฐภาคีในการจัดทำรายงานสิทธิมนุษยชน ส่วนที่ห้าระบุถึงการตีความ

ปัจจุบัน มีนานาประเทศทั่วโลกยอมรับและเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มากถึง 172 ประเทศ โดยมีประเทศในสหภาพยุโรปยึดมั่นในกติกานี้อย่างเคร่งครัด โดยระบุในธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปให้บรรดาประเทศสมาชิกอนุวัติกติกานี้ไปใช้เป็นกฎหมายภายในประเทศ และระบุในนโยบายความสัมพันธ์กับประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรปว่า สหภาพยุโรปจะส่งเสริมให้บรรดาประเทศที่มีความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อีกทั้งสอดส่องมิให้บรรดาประเทศที่มีความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปทำการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง บรรดาเจ้าหน้าที่การทูตจากสหภาพยุโรปจึงทำการสังเกตการการเมืองของประเทศต่างๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การสังเกตการณ์สถานการณ์การเมืองทั่วๆไป การสังเกตการณ์การเลือกตั้ง การสังเกตการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองและการปฏิบัติกับนักโทษการเมือง ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีองค์กรอีกหลายองค์กรสอดส่องการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องการเลือกตั้ง เช่น เครือข่ายการเลือกตั้งเสรีแห่งเอเชีย (Asian Network of Free Elections หรือ ANFREL) และ เครือข่ายองค์กรตรวจสอบการเลือกตั้งยุโรป(European Network of Election Monitoring Organization หรือ ENEMO) เป็นต้น 

ประเทศไทยได้ยอมรับเนื้อหาทั้งหมดของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยมีคำแถลงตีความไว้ 2 เรื่อง คือ ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเจตจำนงของตนเอง ไทยไม่ยินยอมให้ตีความว่าอนุญาตหรือสนับสนุนการกระทำใดๆ ที่เป็นการแบ่งแยกดินแดน และ ในส่วนของการห้ามการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสงคราม ไทยไม่ยอมให้รวมถึงสงครามเพื่อป้องกันตนเองจากการรุกรานจากประเทศอื่น 

ด้วยเหตุนั้น ประเทศไทยจึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เยี่ยงนานาอารยประเทศที่ยึดมั่นในสัจจะที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศที่ตนได้เป็นภาคี

ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลังจากเป็นภาคีของกติกาสัญญา ทางการไทยได้ส่งผู้แทนไปเป็นผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งนานาชาติ (International election observers) ซึ่งทำหน้าที่สังเกตการณ์และวิจารณ์เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรม ทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง โดยได้ส่งผู้แทนไปเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศต่างๆ มาโดยตลอด เช่น ล่าสุดได้ส่งคณะผู้แทนร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งในกัมพูชาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561

นอกจากนี้ แกนนำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มีความรู้สูงและมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดี อย่าง “กปปส.” ก็เคยส่งหนังสือเชิญบรรดาสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทยให้ส่งตัวแทนไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของ กปปส. ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556

ดังนั้น การที่มีผู้ออกมาตำหนิเจ้าหน้าที่การทูตนานาชาติที่ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งและร่วมสังเกตการณ์การดำเนินคดีทางการเมือง ผู้ตำหนิจึงเสียมารยาททางการทูตอย่างยิ่ง และละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างยิ่ง เป็นการสร้างความเสื่อมเสียน่าอับอายให้กับประเทศชาติ