เดินทางเข้าสู่เทอมที่สองแล้วของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ของการทำหน้าที่ ส.ส.ชุดที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ผ่านทั้งกระแสข่าวเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล และ "งูเห่า"
ท่ามกลางกระแสข่าวลือ 'วอยซ์ ออนไลน์' ได้ทำการไล่เช็กชื่อ ส.ส. พรรคไหน ที่กล้าขัดใจพรรคการเมืองตัวเอง และขัดอกมติวิปพรรคร่วมรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ด้วยการ"โหวตสวน" ในการลงมติที่สำคัญกลางสภาฯ (เป็นการเก็บข้อมูลตั้งแต่การประชุมวันที่ 25 พ.ค. 2562 - 27 พ.ย. 2562 โดยเลือกการลงมติที่มีนัยยะสำคัญของการโหวตสู้กันระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย)
เริ่มมาตั้งแต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 'วีระกร คำประกอบ' พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้เลื่อนการประชุมออกไป ผลการลงมติในครั้งนั้นเป็นการลงมติแบบเปิดเผย ซึ่งผลการลงมติแตกแถว มาจากพรรคพลังประชารัฐ ขานว่าไม่เห็นชอบกับการเลื่อนประชุม 5 เสียง ประกอบด้วย นายอนุชา นาคาศัย นายอัครวัฒน์ อัศวเหม นายอนุชา น้อยวงศ์ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ นายอัฎฐพล โพธิพิพิธ เป็นผลให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นด้วย 248 ต่อ 246 เสียงไม่เห็นด้วย
ต่อมา 5 มิ.ย. 2562 เมื่อมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเลือกระหว่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในขณะนั้นปรากฏว่า นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย "งดออกเสียง" ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางกับมติของพรรคภูมิใจไทย ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยนายสิริพงศ์ ให้เหตุผลว่า เพราะรับปากกับประชาชนในพื้นที่ไว้ว่า จะเลือกนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรี
11 ก.ค. 2562 การลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างพิจารณาเสร็จแล้ว การพิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภาหรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 232 เสียง ไม่เห็นด้วย 242 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้าน และพรรคเศรษฐกิจใหม่ลงมติเห็นด้วยให้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา จากการตรวจสอบผลการลงมติครั้งนั้น พบว่า นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ กลับลงคะแนนเสียง "ไม่เห็นด้วย" ให้ตั้ง กมธ. เต็มสภา
17 ต.ค. 2562 ในการประชุมวาระพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 374 ต่อ 70 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ขณะที่ ส.ส. ที่งดออกเสียง คือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์
ส่วน น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่ ลงมติ "เห็นด้วย" ซึ่งสวนทางกับมติของพรรคอนาคตใหม่ที่ "ไม่เห็นด้วย"
19 ต.ค. 2562 ในการลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 251 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 234 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง พบว่า น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่แหกมติวิปฝ่ายค้าน ลงมติเห็นด้วยกับรัฐบาล ท่ามกลางกระแสการต่อต้านจากประชาชนที่กดดันให้ น.ส.กวินนาถ ลาออกจากพรรคอนาคตใหม่ และถูกมองว่าเป็น "งูเห่าสีส้ม"
20 พ.ย. 2562 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้านได้ทำการเสนอขอนําญัตติเรื่อง “ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ขึ้นมาพิจารณา ต่อ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ที่ประชุมมีมติ ไม่เห็นด้วย 241 เสียง เห็นด้วย 229 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ขณะที่ ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ 3 คน ลงมติแหกคอกมติวิปฝ่ายค้าน และโหวตไปในทิศทางเดียวกับฝ่ายรัฐบาล คือ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียบใหม่ ส่วน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็น ส.ส.เพียง 1เดียวของซีกรัฐบาลที่งดออกเสียง
ในวันเดียวกันนี้ ในการพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2562 ผลการลงมติ ที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 246 เสียง ไม่เห็นด้วย 74 เสียง งดออกเสียง 148 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ซึ่งเสียงที่เห็นด้วย กับ พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นฝ่ายรัฐบาล พบว่า นายไตรรงค์ ติธรรม ส.ส.บึงกาฬ พรรคเพื่อไทย "ไม่ลงคะแนนเสียง"
ขณะที่ นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ลงมติ "เห็นด้วย"กับฝั่งรัฐบาล ซึ่งเป็นการโหวตสวนพรรคตัวเองในครั้งที่ 2
ส่วน ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่โหวตสวนมติพรรคตัวเองก็เป็น 3 ส.ส.คนเดิม คือ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ลงมติงดออกเสียง ด้าน พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา และ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ลงมติเห็นด้วย อย่างไรก็ดี การลงมติของ ส.ส. ทั้ง 3 คน สวนทางกับพรรคอนาคตใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
27 พ.ย. 2562 ในการขอถอนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเพื่อศึกษาผลกระทบการบังคับใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอ โดยผลการลงมติในญัตติดังกล่าว ถูกแบ่งเป็นสามฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ที่เห็นด้วยให้ถอนญัตติ
ฝ่ายพรรคเพื่อไทย และ พรรคร่วมฝ่ายค้าน งดออกเสียง ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ไม่เห็นด้วย
โดยพบว่า นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ส.ส.อุบลราชธานี นายสมบัติ ศรีสุรินทร์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลงมติไม่เห็นด้วย
นายศรีเรศ โกฏคำลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และนายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ลงมติเห็นด้วย
นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย ไม่ลงคะแนนเสียง
ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ งดออกเสียง
วันเดียวกันนี้ ยังมีการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ผลการลงมติ ปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.วิสามัญ ด้วยคะแนนเสียง 236 เสียง ไม่เห็นด้วย 231 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พบว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 6 คน ลงมติเห็นด้วยกับพรรคฝ่ายค้าน คือ นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ซึ่งเสียงสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ 6 คน เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้านในครั้งนี้
จนกระทั่งวิปรัฐบาลเสนอญัตติขอให้ที่ประชุมสภาฯ นับคะแนนเสียงใหม่เป็นรายบุคคล ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 85 กรณีมีคะแนนเสียงห่างกันไม่ถึง 25 เสียง และนำไปสู่เหตุการณ์ที่พรรคฝ่ายค้านพร้อมใจกันวอล์กเอาต์จนทำให้สภาล่ม 2 ครั้งใน 2 วันติดต่อกัน
เปิดแชมป์นักโหวตสวนกลางสภาฯ
เมื่อดูรายชื่อจากการลงมติในเรื่องสำคัญกลางสภาผู้แทนราษฎรตลอดสมัยประชุมครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรคตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป คือ
น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ โหวตสวน 4 ครั้ง
รองลงมา คือ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่ โหวตสวน 3 ครั้ง และ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ โหวตสวน 3 ครั้ง ซึ่งทั้งสามคนนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็น "งูเห่าสีส้ม"
ขณะที่พรรคเศรษฐกิจใหม่เองก็มี ส.ส. โหวตสวน ถึง 2 ครั้ง คือ นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และ นายเทพไท เสนพงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โหวตสวน 2 ครั้ง
เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรค และการลงมติในสภาฯ ถือเป็นเอกสิทธิ์ ส.ส. ซึ่งในมาตรา 114 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า "ส.ส. และส.ว. ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"
แต่ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญ มาตรา101 (9) ก็กำหนดช่องทางในกรณีพรรคการเมืองมีมติขับ ส.ส.พ้นจากพรรคการเมืองนั้นเช่นกัน โดยระบุว่า สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกตามมติพรรคการเมืองนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมกันของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและ ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ในกรณีเช่นนี้ ถ้า ส.ส.ผู้นั้นมิได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้น 30 วันดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง