ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ มาเลเซีย 'มหาเธร์' ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งหลังถกเครียดพรรคร่วมรัฐบาลช่วงสุดสัปดาห์ สื่อบางสำนักระบุว่านี่เป็นการ 'รัฐประหารตัวเอง' เพื่อสกัด 'อันวาร์ อิบราฮิม' ขึ้นรับตำแหน่งแทน หลังจากทั้งคู่ร่วมมือกันในศึกเลือกตั้งปี 2561 เพื่อโค่นอดีตนายกฯ นาจิบ ราซัก

สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซียยืนยันข่าวที่ระบุว่า 'มหาเธร์ โมฮัมหมัด' นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทูลเกล้าถวายใบลาออกจากตำแหน่งต่อสุลต่านอับดุลเลาะห์ สมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซียเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. วันที่ 24 ก.พ. 2563 และยังต้องรอพระราชวินิจฉัยของสุลต่านอับดุลเลาะห์ว่าจะทรงอนุญาตให้มหาเธร์ลาออกหรือไม่

นอกจากนี้ พรรคเบอร์ซาตูของมหาเธร์ ได้ประกาศถอนตัวจากการเป็นพันธมิตรแนวร่วมแห่งความหวัง หรือ 'ปากาตัน ฮารัปปัน' (PH) อย่างเป็นทางการอีกด้วย ทำให้สมาชิกพรรค PKR ของ 'อันวาร์ อิบราฮิม' อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลมหาเธร์ และปัจจุบันเป็นประธานแนวร่วม PH ประณามว่าพรรคเบอร์ซาตู 'ทรยศ' ต่ออุดมการณ์ของประชาชน เนื่องจากทั้งสองพรรคเคยประกาศร่วมมือกันในการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 เพื่อสู้กับนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรี และโค่นพรรคบาริซาน เนชันนัล ที่ปกครองประเทศมานานหลายสิบปี

อย่างไรก็ตาม กระแสเรียกร้องให้มหาเธร์ก้าวลงจากตำแหน่งเพื่อหลีกทางให้อันวาร์ อิบราฮิม เข้ารับตำแหน่งนายกฯ แทน ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีการเจรจากันอย่างเคร่งเครียดระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 22-23 ก.พ. ที่ผ่านมา และ 'อันวาร์ อิบราฮิม' เปิดเผยกับสื่อว่าการเจรจาดำเนินไปอย่างน่าพอใจ

ทั้งนี้ เวลาประมาณ 14.30 น. วันที่ 24 ก.พ. อันวาร์และวัน อาซิซะห์ วัน อิสมาอิล ผู้เป็นภริยา ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกฯ จะต้องเข้าเฝ้าสุลต่านอับดุลเลาะห์ด้วยเช่นกัน

มหากาพย์ความขัดแย้งระหว่างมหาเธร์ - อันวาร์

อันวาร์เคยเป็นเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยที่มหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกภายใต้สังกัด พรรคบาริซาน เนชันนัล และถูกมองว่าเป็นดาวรุ่งที่อาจจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากมหาเธร์ จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในเอเชียเมื่อปี 2540 ทั้งคู่มีแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมาก ทำให้ความสัมพันธ์เริ่มย่ำแย่ลง อันวาร์จึงประกาศในที่ประชุมพรรคประจำปี 2541 ให้ปฏิรูปพรรคและปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ และอาสาที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศต่อจากมหาเธร์ ทำให้มหาเธร์ปลดอันวาร์ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

อันวาร์นำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมหาเธร์ และเรียกร้องให้มหาเธร์ลาออกจากตำแหน่ง แต่ปี 2542 อันวาร์ถูกจำคุกครั้งแรก หลังถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาคอร์รัปชันและมีเพศสัมพันธ์ทางทวาร แต่รัฐบาลของมหาเธร์ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่ากลั่นแกล้งคู่แข่งทางการเมือง

ในการเลือกตั้งปี 2556 พรรคของอันวาร์สามารถคว้าเก้าอี้ในสภามาได้จำนวนมาก แม้จะยังไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้ แต่ก็ถือเป็นภัยคุกคามที่พรรคบาริซาน เนชันนัล อีกทั้งยังมีแนวโน้มสูงมากว่าอันวาร์อาจชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ในปี 2557 ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำตัดสินให้จำคุก 5 ปี เขาจึงต้องกลับเข้าไปในเรือนจำในปี 2558

จนช่วงปีก่อนที่มีการเลือกตั้งปี 2561 มหาเธร์เริ่มออกมาวิจารณ์ทายาททางการเมืองของเขาเองอย่างนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีจากพรรคบาริซาน เนชันนัลคนก่อน ที่มีข่าวฉาวคอร์รัปชันในกองทุน 1MDB ก่อนจะประกาศว่าจะลงเลือกตั้งโดยหันมาจับมือกับพรรคปากาตัน ฮารัปปัน จนชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 2561 ทำให้อันวาร์ได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน

ที่มา: Aljazeera/ SCMP/ Straits Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: