ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์นอกพรรคพลังประชารัฐไม่เท่าภายในพรรคเอง ที่กล่าวกันว่าไร้เอกภาพนั้น ไม่สามารถพูดได้เต็มปาก เพราะพรรคนี้ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวมาแต่แรก แต่เป็นพรรคที่รวมแต่ละก๊ก-ก๊วนทางการเมืองเข้าด้วยกัน

จากปรากฏการณ์พลังดูดปีที่แล้ว รวมทั้งการเจรจาเพื่อให้มาร่วมงาน เป็นพรรคที่ใช้เวลา ‘ฟอร์มทีม’ ประมาณ 1-2 ปี โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือดัน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกฯ อีกครั้ง ผ่านการเลือกตั้ง

รอยร้าวที่เกิดในพรรคนั้น จึงไม่ใช่เกิดจากพรรคมีเอกภาพแต่แรก แค่มีเป้าหมายร่วมกันเท่านั้น เมื่อภารกิจแรกจบสิ้นในการดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ ภารกิจที่ 2 คือการฟอร์มทีมรัฐบาลในช่วงโค้งสุดท้าย จึงเกิดอาการ ‘ทวงบุญคุณ’ ออกมาให้เห็น ที่แต่ละคน ‘ทวงสิทธิ์’ ที่จะต้องได้แลกค่าเหนื่อย เพราะพรรคพลังประชารัฐใช้ความชอบธรรมอ้าง Popular Vote ได้ลำดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล แม้จะได้ ส.ส.น้อยกว่าพรรคเพื่อไทยก็ตาม

รอยร้าวต่างๆ เริ่มมาตั้งแต่การจัดลำดับปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคพลังประชารัฐ ต่อมาช่วงการจัดโควต้ารัฐมนตรี ที่เก้าอี้ไม่ลงตัวภายในพรรค สลับตำแหน่งไปมา โดยเฉพาะกรณี ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ อดีตแกนนำกลุ่มสามมิตร ก็หวังนั่ง รมว.เกษตรฯ เพื่อผลักดันนโยบายเพื่อเกษตรกร ที่ถูกโยกไปเป็น รมว.ยุติธรรมแทน

สุดท้ายเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ ก็ตกเป็นของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่ได้ชื่อว่า ‘เขี้ยวลากดิน’ แม้แพ้ยับเยิน แต่ได้เก้าอี้กระทรวงเกรดเอไปหลายที่ แถมได้ ‘ชวน หลีกภัย’ เป็น ประธานสภาฯ ด้วย

แม้ลึกๆแล้ว ‘ชวน’ อาจไม่ต้องการก็ตาม แต่เพื่อ ‘ฝ่าทางตัน’ จึงต้องยอม ไม่เช่นนั้น อาจตกเป็นของขั้วเพื่อไทย ที่เสนอชื่อ ‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’

ล่าสุด นายเอกราช ช่างเหลา แกนนำส.ส.อีสานตอนบน พรรคพลังประชารัฐ และ ‘เสธ.ชาติ’พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคใต้ พปชร. ก็ต่างออกมาทวงสิทธิ์ที่พึงได้ หลังทำผลงานไว้แต่ละภาค โดยเฉพาะภาคใต้ที่ พ.อ.สุชาติ เพื่อน ตท.12 กับ นายกฯ สร้างสถิติเจาะภาคใต้ได้ 13 ที่นั่ง

ซึ่งทั้ง นายเอกราช และ พ.อ.สุชาติ ก็ออกมาทวงถามถึงตำแหน่งต่างๆที่ควรมีโควต้าภูมิภาคด้วยในการบริหารงาน จนทำให้ต้องส่ง ‘ผู้กองมนัส’ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคเหนือมาเป็นกาวใจเพื่อเคลียร์ใจ จนทุกอย่างจบลง

ซึ่ง ‘ผู้กองมนัส’ ก็คุมแถว 10 พรรคเล็ก ที่คิดจะต่อรองและงัดข้อให้สยบรายคาบมาแล้ว ทำให้แสงจรัสมาที่ ‘ผู้กองมนัส’ อีกครั้ง ต้องจับตาบทบาทหลังมีการปรับโครงสร้างพรรค ในเดือนก.ค.นี้ ที่จะมีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ด้วย


ประยุทธ์ พรรคร่วมรัฐบาล อนุทิน อุตตม G_20190611155315000000.jpg

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ แบ่งรับแบ่งสู้จะนั่งเป็น หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยระบุว่ากำลังให้ฝ่ายกฎหมายดูอยู่ และดูถึงความเหมาสมต่างๆ เพราะการขึ้นเป็น หัวหน้าพรรค อย่างเป็นทางการ ก็ต้องแบกรับแรงกดดันหรือแรงเสียทานต่างๆมากขึ้น

แม้ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้เป็น หัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีบทบาทในพรรคไม่น้อย

การขึ้นเป็น ‘แม่ทัพคุมพรรค’ เอง ก็ตอกย้ำว่า ‘สี่กุมาร’ของพรรค ที่นำโดย ‘อุตตม สาวนายน’ หัวหน้าพรรค ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’เลขาธิการพรรค ไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริง จึงเกิดปัญหาต่างๆในพรรค ที่คุยไม่จบ เคลียร์ไม่ลงตัว เพราะอำนาจการตัดสินใจหลายอย่างอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้ง ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม และ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกฯ ที่ถูกจับตาว่าเป็น ‘ผู้มีบารมีนอกพรรค’ มาโดยตลอด

บทบาท พล.อ.ประยุทธ์ จึงสำคัญไม่น้อย หากขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค เพราะเป็นจุดชี้ว่าพรรคพลังประชารัฐ ก็หวังทำการเมืองระยะยาว ไม่ได้เป็นเพียง ‘พรรคเฉพาะกิจ’ เท่านั้น

แต่อีกด้านก็มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจไม่ลงเป็น หัวหน้าพรรค เพื่อลดตัวให้ไปเท่า ‘หัวหน้าพรรค’ เท่าคนอื่นๆ รวมทั้งเมื่อเป็น หัวหน้าพรรค ก็ต้องเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย จะต้องมี ‘ชนักติดหลัง’ ในความรับผิดชอบทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หากในอนาคตเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมากับพรรค อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ โดนสอยไปด้วย

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ก็มีชื่อไปเป็น ประธานที่ปรึกษาพรรคฯ ซึ่ง ‘บิ๊กป้อม’ ก็ยังไม่ปิดประตูตัวเอง โดยแง้มเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ไม่รับ ยังไม่รับ ยังไม่รู้เลย เพราะยังไม่เป็นสมาชิกพรรคเลย” พร้อมเปรยว่าข่าวหลุดมาได้ยังไง

“ก็ยังไม่ได้คุยกับนายกฯ แล้วหลุดมาได้อย่างไร ใครเป็นคนพูด” พล.อ.ประวิตร กล่าว

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร จะเหลือเพียงเก้าอี้ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ที่ดูแลกิจการตำรวจ ในฐานะ ประธาน ก.ตร. และ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม แม้จะไม่ประกาศชัด แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ หลังได้แสดงท่าทีว่าเสียหายตรงไหน หากตนควบตำแหน่งนี้และอยู่ระหว่างการตัดสินใจ


ประวิตร

แต่อีกกระแสข่าวก็มีการมองว่า หรือสุดท้ายแล้ว พล.อ.ประวิตร จะไม่รับตำแหน่งใดๆเลย เพื่อจะได้พักดูแลสุขภาพเต็มที่ และทำงานอยู่ ‘เบื้องหลัง’ แทนจะดีกว่า ที่ผ่านมาเป็น ‘จุดอ่อน-ตำบลกระสุนตก’ มาตลอด ที่สุดท้ายแล้วต้องรอการโปรดเกล้าฯลงมา ตามที่ พล.อ.ประวิตร ระบุไว้

“ถ้าโปรดเกล้าฯ ออกมามีชื่อผม ผมก็จะทำงานต่อ แต่ถ้าไม่มีชื่อผม ผมก็ไม่ทำ ก็กลับบ้าน” พล.อ.ประวิตร กล่าว

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะระบุว่า กองทัพไม่ต้องไปคุมเขา เพราะมีระเบียบ-ระบบอยู่แล้วก็ตาม แต่การขึ้นควบ รมว.กลาโหม ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไปอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลด้วย ในการพิจารณาแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพ โดยในปี 62 มีเพียง ‘บิ๊กต่าย’พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. ที่เกษียณฯ

ส่วน ผบ.เหล่าทัพ จะเกษียณฯปี63 ยกเว้น ‘ปลัดณัฐ’ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ที่เกษียณฯปี64 โดยมี ‘บิ๊กช้าง’พล.อ.ชัยชาญ ช้วงมงคล นั่ง รมช.กลาโหม อีกสมัย คอยช่วยงานนายกฯต่อไป

อภิรัชต์

นอกจากนี้ล่าสุด ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.และเลขาธิการคสช. ได้แนะนำเพลง ‘กิเลสมนุษย์’ ให้ฟัง โดยให้เหตุผลเพียงสั้นๆว่าแม้จะย้อนยุค แต่อาจเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีการโยงไปถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่กำลังมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ใช้เวลานานนับเดือน

อีกทั้งที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ ก็ได้เข้าพบ นายกฯ ที่ทำเนียบฯ เป็นการภายในถึง 2 ครั้ง ในช่วง 1 เดือน แม้จะอยู่ระหว่างการฝึกหลักสูตรราชองครักษ์ด้วย จึงมีการมองว่าจะเป็นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ท่ามกลางการงัดข้อกันเอง สภาวะคลื่นใต้น้ำต่างๆ และการรวมตัวของพรรคฝ่ายค้านในสภาะ ‘สภาปริ่มน้ำ’ ก็ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ กลายเป็น ‘รัฐบาลบนเส้นด้าย’ ไปด้วย

แต่ที่มั่นคงในเวลานี้คือเอกภาพระหว่าง ‘กองทัพ-รัฐบาล’ และการที่ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งควบ รมว.กลาโหม ด้วยนั้น ก็เป็นการส่งสัญญาณถึงภารกิจระหว่างรัฐบาล-กองทัพยังไม่จบเพียงแค่นี้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog