เนื่องในวันปลอดถุงพลาสติกสากล มาพูดคุยกันถึงความพยายามของนานาประเทศในการ 'ประกาศสงคราม' กับวัสดุที่ย่อยสลายยาก เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังถูกใช้ต่อไปอย่างสิ้นเปลืองและแพร่หลาย
หลอดพลาสติกเป็นสิ่งที่ผู้คนเลือกใช้อย่างแพร่หลายมาหลายทศวรรษ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมทำให้หลายประเทศพยายามผลักดันแคมเปญลด-ละ-เลิกการใช้หลอดพลาสติก ตลอดจนบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ โดยล่าสุดมีทั้งสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร อินเดีย และแม้แต่บริษัทเอกชนรายใหญ่อย่างแมคโดนัลด์ ก็ร่วมวางแนวทางในเรื่องนี้ ในเดือนเมษายน รัฐบาลประกาศแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวอย่างเป็นทางการ และในเดือนต่อมา สหภาพยุโรปจะประกาศนโยบายเดียวกัน
สำหรับสหราชอาณาจักรนั้น นอกเหนือจากสถาบันการเมืองและองค์กรอนุรักษ์แล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงประกาศแบนการใช้หลอดและขวดพลาสติกในทุกเขตพระราชฐาน ซึ่งจนถึงวันนี้สหราชอาณาจักรยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายแบนพลาสติกที่ก้าวหน้าที่สุด และกำลังพิจารณาจะแบนการซื้อขายช้อนมีดส้อมและจานชามพลาสติกด้วย
ข้ามฝั่งมาที่สหรัฐฯ ซีแอตเทิลกลายเป็นเมืองใหญ่เมืองแรกในประเทศที่ประกาศแบนอุปกรณ์การรับประทาน รวมถึงหลอดที่ทำจากพลาสติก โดยห้ามไม่ให้ร้านอาหาร ฟู้ดทรัก คาเฟ่ และผู้ประกอบการด้านอาหารต่าง ๆ ให้อุปกรณ์เหล่านี้กับลูกค้า และเมื่อลูกค้าร้องขอ จะสามารถให้ได้แค่อุปกรณ์ประเภทที่ย่อยสลายได้เท่านั้น ซึ่งรวมถึงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ด้วย จากรายงานของวารสาร Science ในสหรัฐฯ ชี้ว่า แต่ละปีจะมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงทะเลราว 8 ล้านตัน หรือ 250 กิโลกรัมในทุก ๆ วินาที
ในอินเดีย บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เบอร์เกอร์คิง แมคโดนัลด์ และสตาร์บัคส์ ต่างถูกปรับกรณีการใช้พลาสติกครั้งเดียวกันถ้วนหน้า จากการเปดิเผยของทางการอินเดียเมื่อเดือนมิถุนายน ตอกย้ำกระแสการแบนพลาสติกในเอเชียอีกระดับ ซึ่งนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย หวังจะให้อินเดียเป็นประเทศปลอดการใช้พลาสติกรอบเดียวทิ้งให้ได้ภายในปี 2022
สำหรับประเทศไทย ที่แต่ละปีจะมีสัตว์น้ำเกยตื้นตายจากการกินพลาสติกทุกปี แต่กรณีวาฬที่มีขยะพลาสติกเต็มท้องรวม 8 กิโลกรัมเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้หลายฝ่ายเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุกลามและกระทบต่อประชากรสัตว์น้ำไปมากกว่านี้
กระทรวงสาธารณสุขไทยเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ประกาศมาตรการรับมือเป็นแห่งแรก ๆ โดยให้โรงพยาบาลในสังกัด 30 แห่ง ลด-ละ-เลิกการใช้ถุงพลาสติก หลังพบว่าเมื่อปีที่แล้วมียอดการใช้ถุงจากทุกโรงพยาบาลรวมกันกว่า 9 ล้านใบ // มีประมาณการว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยสร้างขยะพลาสติกโดยเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีเพียงครึ่งตันที่ถูกใช้ซ้ำ
ล่าสุด การท่าเรือแห่งประเทศไทยแถลงไม่อนุญาตให้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกขยะพลาสติกจากต่างประเทศ รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอันตราย เข้าเทียบท่าแล้ว ด้าน Maersk Line Thailand บริษัทชิปปิงรายใหญ่ ก็เร่งแจ้งลูกค้าแล้วว่ามาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที
รายงานระบุว่า ถุงพลาสติกร้านค้าใช้เวลา 10 ถึง 50 ปี ในการย่อยสลาย ขณะที่ หลอดใช้เวลาราว 250 ปี และขวด 450 ปี ซึ่งจำนวนปีเหล่านี้ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้หลายภาคส่วนเร่งลดการใช้ลงอย่างรวดเร็วที่สุด// โดยห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าหลายแห่งได้พยายามกระตุ้นให้ผู้ซื้อลดรับถุงพลาสติกเช่นกัน อย่างในวันนี้ก็มีหลายห้างที่รณรงค์ให้นำถุงผ้ามาเอง ซึ่งผู้ซื้อจะได้รับคะแนนสะสมไปเป็นสิ่งตอบแทน
เมื่อเลิกใช้พลาสติกแล้ว เราจะใช้อะไรได้บ้าง? ตัวอย่างหนึ่งคือโรงแรมหรูในโมนาโค ที่เลือกหลอดแบบที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้มาใช้แทน ขณะที่โรงแรมอื่น ๆ หันไปใช้พาสต้าดิบและแท่งไม้ไผ่เล็ก ๆ // จากข้อมูลเมื่อปี 2016 ที่เก็บโดย Nova-Institute ของเยอรมนี และ European Bioplastics industrial group ของยุโรป ระบุว่ามีการผลิตพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพได้ราวปีละ 100,000 ตัน และในปีถัดมา ปี 2017 จำนวนดังกล่าวพุ่งขึ้นเป็น 800,000 ตัน ทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าวัสดุทางเลือกสามารถเข้ามาทดแทนหลอดพลาสติกแบบเดิมได้ และจะเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม