เมื่อพูดถึงความสำเร็จของบริษัทผลิตภาพยนตร์ สื่อจำนวนมากอาจโฟกัสกับผู้เล่นหน้าใหม่อย่างเน็ตฟลิกซ์ แต่ผู้เล่นหน้าเก่าที่น่าจับตาอย่าง 'ฟิล์มโฟร์' จากฝั่งอังกฤษ ก็ประสบความสำเร็จในศึกชิงออสการ์ปีนี้ไม่แพ้กัน
อีกเพียงสัปดาห์เดียว แฟนภาพยนตร์ก็จะได้รู้กันแล้วว่าผลงานเรื่องใดจะชนะรางวัลออสการ์ในปีนี้บ้าง ซึ่งหลังจากที่หลายสื่อออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้เข้าชิงที่หลากหลาย ตั้งแต่ 'ผลงานแมส' อย่าง Black Panther 'ผลงานที่น่ากังขา' อย่าง Bohemian Rhapsody และ 'ผลงานที่แทบจะนอนมา' ในทุกสถาบันอย่าง Roma แล้ว ก็มีสื่���ที่นำเสนอประเด็นความสำเร็จของเน็ตฟลิกซ์ ในฐานะค่ายใหม่และค่ายสตรีมมิงที่ทำผลงานเป็นที่น่าพอใจ โดยเข้าชิงรวมไปทั้งสิ้น 15 รางวัล และเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก
แต่อีกค่ายผู้ผลิตหนึ่งที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากไม่แพ้กัน โดยเป็นผู้เล่นนอกกระแส แต่เป็นผู้เล่นหน้าเก่าและถือเป็น 'คนนอก' ที่มาบุกเวทีรางวัลฮอลลีวูดอย่างน่าจับตา ก็คือ 'ฟิล์มโฟร์' (Film4) บริษัทภาพยนตร์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ 'ช่อง 4' หรือ Channel 4 ของอังกฤษ ที่ปีนี้เข้าชิงออสการ์มากถึง 13 รางวัล หลังจากที่เคยสร้างปรากฏการณ์เข้าชิง 15 รางวัลมาแล้วเมื่อปี 2016 ที่มีผลงานอย่าง Carol, Room, Amy, Ex Machina, Youth และ 45 Years โดยในทศวรรษที่ผ่านมา ฟิล์มโฟร์ คว้ารางวัลออสการ์ไปแล้ว 18 รางวัล
สำหรับผู้เข้าชิงจากอังกฤษปีนี้ ก็เรียกได้ว่าคึกคัก และถือเป็นเป็นความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อังกฤษโดยรวม ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น เพราะมีนักแสดงแถวหน้าอย่าง โอลิเวีย โคลแมน และ ราเชล ไวซ์ จาก The Favourite ที่จะเข้าฉายในประเทศไทยสัปดาห์นี้ , คริสเตียน เบล จาก Vice และริชาร์ด อี. แกรนต์ จาก Can You Ever Forgive Me? ที่เข้าชิงรางวัลใหญ่ด้วยกันทั้งหมด ซึ่งโคลแมนและไวซ์ได้รับรางวัลบาฟตาของปีนี้ไปแล้ว แม้จะไม่เกี่ยวกับโอกาสการได้รับออสการ์ ที่มักโหวตให้นักแสดงอเมริกันก็ตาม โดยผลงานของฟิล์มโฟร์ที่เข้าชิงในปีนี้ ได้แก่ The Favourite หรือชื่อไทยว่า 'อีเสน่ห์ร้าย' ของผู้กำกับ ยอร์กอส ลานธิมอส และ Cold War ของผู้กำกับ พาเวล พาวลิคอฟสกี
แม้ฟิล์มโฟร์จะไม่ใช่ผู้สร้างฝั่งฮอลลีวูด แต่ก็ไม่ใช่บริษัทหน้าใหม่ที่สร้างความแปลกใจเมื่อมีผลงานเข้าชิง เพราะบริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1982 และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่กับภาพยนตร์ Slumdog Millionaire ที่กวาดรางวัลออสการ์ปี 2009 ไปได้ถึง 7 รางวัล จากการเข้าชิง 8 รางวัล และในจำนวนนี้รวมถึงรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม (แดนนี บอยล์) ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดของทุกการประกาศรางวัลด้วย
แดเนียล บาตเซก ผู้บริหารฟิล์มโฟร์คนปัจจุบัน กล่าวว่าตัวเขามองการเข้าชิงออสการปีนี้ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย แง่ดีคือการเข้าชิงอย่างถล่มทลายและมีโอกาสชนะหลายสาขา ส่วนแง่ร้ายคือผลงานที่มีคุณภาพไม่แพ้กันอย่าง Peterloo และ Widows กลับถูกมองข้ามจากคณะกรรมการเวทีใหญ่ ๆ เท่ากับว่าการลงทุนในผลงานแต่ละเรื่องแทบไม่ต่างกับการเสี่ยงดวง เพราะผลงานคุณภาพอาจไม่ได้รับการยอมรับที่สมน้ำสมเนื้อ และการลงทุนในโปรเจกต์ที่ดีก็อาจไม่ได้สร้างผลกำไรอย่างที่ควรจะเป็น
การลงทุนของค่ายภาพยนตร์แต่ละค่ายไม่ได้จบที่การผลิตและโปรโมตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดสรรงบประมาณในการ 'ล็อบบี' หรือจัดแคมเปญรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนโหวตให้อีกด้วย โดยแคมเปญรณรงค์โหวตภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในยุคนี้ใช้งบประมาณสูงถึง 20 ถึง 25 ล้านดอลลาร์ หรือ 625 ถึง 780 ล้านบาท สูงกว่างบประมาณเมื่อราว 10 ปีที่แล้วถึง 1 เท่าตัว ซึ่งปีนี้ Roma ใช้งบประมาณในส่วนนี้ไป 25 ล้านดอลลาร์ และถือว่าได้ผลตามที่คาดหมาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้กำกับ อัลฟอนโซ กัวรอน เป็นหนึ่งใน 'คนโปรด' ของเวทีออสการ์อยู่เป็นทุนเดิมแล้วด้วย
เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมการล็อบบีในลักษณะนี้ของเวทีมอบรางวัลระดับโลก รวมถึงออสการ์ เช่นนี้ การเข้าชิงของบริษัทจากฝั่งอังกฤษอย่าง ฟิล์มโฟร์ จึงยิ่งดูเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณางบประมาณสร้างภาพยนตร์ในแต่ละปีของบริษัทที่อยู่ที่ราว 32 ล้านดอลลาร์ หรือ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวเพิ่งเพิ่มจาก 20 ล้านดอลลาร์ต่อปี เมื่อไม่กี่ปีก่อนเท่านั้น เท่ากับว่าจำนวนเงินที่ค่ายภาพยนตร์ใช้ไปกับแคมเปญสำหรับรางวัลใหญ่ที่สุดรางวัลเดียวมีมูลค่าเท่ากับงบประมาณทั้งปีของบริษัทอินดี้สัญชาติอังกฤษเลยทีเดียว ในมุมหนึ่งจึงอาจเรียกได้ว่า ความสำเร็จนี้ของฟิล์มโฟร์ 'หอมหวาน' และน่าชื่นใจยิ่งกว่าความสำเร็จในการเข้าชิงของเน็ตฟลิกซ์เสียด้วยซ้ำ