กระทรวงสิ่งแวดล้อมเยอรมนี ประกาศเตรียมออกกฎหมายแบนถุงพลาสติก หลังยังไม่พอใจ แม้จะลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้แล้วร้อยละ64 นับจากปี 2015
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา 'สเวนยา ชูลซ์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ และความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ประเทศเยอรมนี ประกาศจะแบนการใช้ถุงพลาสติก หลังข้อตกลงความร่วมมือกับบรรดาผู้ค้าปลีกยังไม่ให้ผลลัพธ์ที่ดีพอ
โดยในปี 2016 รัฐบาลเยอรมนีได้ลงนามในข้อตกลงกับอุตสาหกรรมค้าปลีกเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก โดยข้อตกลงนี้ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เป็นการขอความร่วมมือภาคธุรกิจโดยสมัครใจให้ร่วมเก็บค่าถุงพลาสติก โดยมุ่งเป้าไปที่ถุงชนิดหนาตามห้างสรรพสินค้าและร้านเสื้อผ้า ขณะที่ถุงพลาสติกใสสำหรับใส่อาหารสดยังคงฟรีอยู่
ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ผลดีในระดับหนึ่ง โดยข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ เยอรมนี ชี้ว่าเยอรมนีใช้พลาสติกลดลง 64 % นับจากปี 2015 อย่างไรก็ตาม 'ชูลซ์' ยังคงจะยกระดับการลดจำนวนพลาสติกด้วยการออกกฎหมายระงับการใช้ถุง
"กระทรวงของเราจะสั่งห้ามการใช้ถุงพลาสติกเร็วๆ นี้" ชูลซ์กล่าวกับบิล์ด อัม ซอนน์แท็ก (Bild am Sonntag) หนังสือพิมพ์วันอาทิตย์ซึ่งพิมพ์ในเบอร์ลิน พร้อมชี้ว่าเป้าหมายของเธอคือการทำให้เยอรมนีเลิกเป็นสังคมใช้แล้วทิ้ง และใช้พลาสติกให้น้อยลง ทั้งนี้ ชูลซ์ ไม่ได้เผยถึงกำหนดการที่แน่นอนของแผนการแบนพลาสติก
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปซึ่งมีเยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก ได้โหวตแบนการใช้พลาสติกบางประเภท เช่น ช้อนส้อมพลาสติก หลอดพลาสติก หรือคัตตอนบัดส์ ภายในปี 2021
ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันนักการเมือง นักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจกว่า 4,700 คน จาก 170 ประเทศเข้าร่วมเจรจาเกี่ยวกับกับประเด็นสิ่งแวดล้อมนาน 5 วัน ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติในกรุงไนโรบีของเคนยา โดยประเทศสมาชิกยูเอ็น 170 ประเทศทั่วโลกได้ลงมติที่ไม่มีการผูกมัดทางกฎหมายว่าจะลดการใช้พลาสติก "อย่างมีนัยสำคัญ" ให้ได้ภายในปี 2030
โดยสหประชาชาติระบุว่าทุกปี มีการทิ้งถุงพลาสติกกว่า 5 แสนล้านถุงทั่วโลก มีการซื้อน้ำบรรจุขวดพลาสติกถึง 1 ล้านขวดต่อ 1 นาที นอกจากนี้ ยังมีขยะพลาสติกมากกว่า 8 ล้านตันตกลงไปในท้องทะเล ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและปะการัง