ข่าวดีสำหรับสถิติการอ่านของคนไทยในปี 2561 พบว่าคนไทยมีการอ่านเพิ่มขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้น 14 นาที จากปี 2558
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ ทีเคปาร์ค ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลสำรวจการอ่านของประชากร ประจำปี 2561 ซึ่งได้มีการขยายคำนิยามของการอ่านใหม่ นอกจากการอ่านหนังสือในรูปแบบกระดาษแล้ว ยังให้ครอบคลุมไปถึงการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่ยกเว้นการอ่านแชท อ่านไลน์ ตอบเฟซบุ๊กต่างๆ ซึ่งได้ทำการสำรวจตัวอย่างกว่า 55,920 ครัวเรือนทั่วประเทศ
พบว่าปี 2561 คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้เวลาอ่านเพิ่มมากขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวัน โดยอ่านหนังสือเป็นเล่ม ร้อยละ 88 และอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ถึงร้อยละ 75.4 ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น สะท้อนว่าหนังสือกระดาษยังคงอยู่เคียงคู่สื่อใหม่ ขณะที่ภาพรวมมีคนไทยอ่านร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยเยาวชนและวัยรุ่น เป็นวัยที่อ่านมากที่สุด
โดยกรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีการอ่านมากที่สุด 109 นาทีต่อวัน ตามมาด้วยภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีค่าเฉลี่ยการอ่านน้อยที่สุดวันละ 65 นาที
แม้จะมีค่าเฉลี่ยของผู้อ่านมากขึ้น แต่ยังประชาชนกว่า 21.2% หรือเกือบ 14 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ไม่อ่าน โดยเหตุผลส่วนใหญ่คือไม่ชอบและไม่สนใจ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นโจทย์สำคัญที่หลายหน่วยกำลังหาทางให้กลับมาสนใจการอ่านมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่ เป็นวัยที่จบการศึกษาไปแล้ว ไปจนถึงวัยทำงานและวัยเกษียณ
นอกจากนี้ ทีเคปาร์ค ยังระบุอีกว่า ตัวเลขผู้อ่านหนังสือในห้องสมุดเพียงร้อยละ 0.6 ของคนอ่านหนังสือ หรือ คิดเป็นจำนวน 298,000 คน ซึ่งต่ำกว่า 3 แสนคนเป็นครั้งแรก มีผู้อ่านในห้องสมุดน้อยลง ซึ่งห้องสมุดจะต้องรู้จักปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ให้เป็นพื้นที่นอกเหนือการอ่านหนังสือ เพื่อรองรับการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในชุมชนอย่างแท้จริง