สมาร์ตโฟน 'OnePlus 6' เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ
วันพลัส แบรนด์สมาร์ตโฟนจากจีน เปิดตัว วันพลัส 6 ในไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือที่ได้ชื่อว่า นักฆ่าเรือธง ที่มาพร้อมกับสเปกแบบจัดเต็ม เทียบเท่าสมาร์ตโฟนราคาแพง ในราคาที่ถูกกว่าเกือบเท่าตัว
ปัจจุบันมีแบรนด์สมาร์ตโฟนจากจีนหลายเจ้าที่มาตีตลาดในไทย ล่าสุด ถึงคิวของ 'วันพลัส' ที่ได้มาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยแล้ว ซึ่งแม้ว่าคนไทยหลายคนอาจจะไม่คุ้นกับชื่อแบรนด์นี้ แต่สำหรับตลาดมือถือต่างประเทศแล้ว แบรนด์นี้กำลังเป็นที่จับตามอง ด้วยการออกแบบที่พรีเมียม สเปกจัดเต็ม ที่มาในราคาไม่แรงมาก จนได้ฉายาในวงการมือถือว่าเป็น 'นักฆ่าเรือธง'
สำหรับสมาร์ตโฟนรุ่นแรกที่จะมาประเดิมตลาดไทยคือ รุ่นเรือธง 'วันพลัส 6' ที่มาพร้อมหน้าจอแสดงผลแบบ Full Optic AMOLED 6.28 นิ้ว อัตราส่วน 19:9 ดีไซน์ตัวเครื่องแบบกระจกรอบด้าน กล้องหลังคู่ 16 ล้าน และ 20 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/1.7 ทำงานด้วยชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 845 ควบคู่กับชิปเซ็ตประมวลผลกราฟิก Adreno 630 ที่เร็วขึ้นกว่ารุ่นก่อนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ วันพลัสยังมีศูนย์บริการคอยช่วยเหลือ และบริการหลังการขายให้กับลูกค้าแบบเดลิเวอรีอีกด้วย
วันพลัส 6 มีให้เลือกทั้งหมด 3 สี ได้แก่ สีดำเงา Mirror Black, สีดำด้าน Midnight Black และสีขาว Silk White วางจำหน่ายที่ราคาเริ่มต้น 17,999 บาท สำหรับรุ่น 64 กิกะไบต์ และราคาสูงสุดอยู่ที่ 21,999 บาท สำหรับรุ่น 256 กิกะไบต์ สามารถซื้อได้แล้วที่ตัวแทนจำหน่าย และค่ายมือถือพาร์ตเนอร์ที่ร่วมรายการทั่วประเทศ โดยทีมงานเวิลด์เทรนด์จะนำวันพลัส 6 มารีวิวให้ชมกันแบบจัดเต็มเร็ว ๆ นี้
ม.โตเกียว คิดค้นหุ่นยนต์คล้ายมังกรบินได้
จากเรื่องมือถือ มาอัปเดตทางฝั่งนวัตกรรมหุ่นยนต์กันบ้าง นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว สร้างหุ่นยนต์สุดล้ำที่สามารถบินได้คล้ายโดรน ซึ่งมาในชื่อโค้ด 'ดรากอน' โดยมีลักษณะคล้ายงู หรือมังกร
ทีมงานวิศกรไฟฟ้าจากมหาลัยโตเกียวระบุว่า ต้องการออกแบบหุ่นยนต์ดรากอนให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ตามช่องว่างหรือโครงสร้างที่เป็นสิ่งกีดขวาง โดยหุ่นยนต์จะสามารถลอดผ่านช่องนั้นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตรง แนวดิ่ง แนวทะแยง และบินฉวัดเฉวียนคล้ายงู ซึ่งวิดีโอสาธิตแสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์ดรากอนสามารถบินต่อเนื่องได้ประมาณ 3 นาที
ต้องติดตามกันต่อไปว่า หุ่นยนต์ดรากอนจะพัฒนาต่อไปในทิศทางไหน และจะมาเป็นเครื่องทุ่นแรง ที่อำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ได้อย่างไรในอนาคต
Source
YouTube/IEEE Spectrum