ตอนนี้ ประเทศไทยก็กำลังอยู่ในช่วงที่จะพัฒนาเข้าสู่ยุคธุรกิจ 4.0 ตามแผนของรัฐบาล ซึ่งพอพูดถึง 4.0 หลายๆคนก็จะนึกถึงเรื่องการปฏิรูปเทคโนโลยี หรือเรื่องดิจิทัล แต่จริงๆแล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น ช่วง Biz Insight วันนี้ เราจะไปพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทชั้นนำระดับโลกหลายบริษัทว่าพวกเขามีการปรับตัวให้เข้ากับยุค 4.0 อย่างไรบ้าง
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1 ธ.ค.) หอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทย หรือ NTCC ได้จัดงานมอบรางวัลด้านการทำธุรกิจครั้งที่ 19 โดยในปีนี้ หัวข้อของการมอบรางวัลก็คือ Business 4.0 Innovation Award หรือ รางวัลนวัตกรรมสำหรับการทำธุรกิจ 4.0 ซึ่งก็มีบริษัทชั้นนำระดับโลกทั้งจากเนเธอร์แลนด์ อย่าง ยูนิลีเวอร์, เชลส์ หรือ ฟิลิปส์ เข้าร่วม และบริษัทนานาชาติอื่นๆทั้งในไทย, สิงคโปร์ และสหรัฐฯ ส่งนวัตกรรมของตัวเองเข้าร่วมประกวดด้วย บริษัทที่ส่งผลงานด้านนวัตกรรมเข้าประกวดก็มีมาจากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน, ด้านสุขภาพ, ด้านโลจิสติก, อาหาร และการท่องเที่ยว
เราลองไปฟังความคิดเห็นของผู้บริหารหลายๆท่าน ว่าสำหรับพวกเขาแล้ว ธุรกิจ 4.0 หมายถึงอะไร
โดยรวมนั้น การทำธุรกิจแบบ 4.0 หมายถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะทำให้ประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และก็ยังมีการเชื่อมต่อสินค้าหลายชนิดเข้ากับผู้บริโภคในรูปแบบ Internet of Things หรือไอโอที ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตรู้ว่าผู้บริโภคแต่ละคนมีพฤติกรรมการใช้สินค้าแต่ละชนิดอย่างไรบ้าง ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตและพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น
แต่ว่าผู้บริหารของ ยานา เวนเจอรส์ ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บอกว่าการทำธุรกิจแบบ 4.0 ก็ไม่ได้หมายถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการใช้วิธีคิดแบบใหม่ในการทำธุรกิจ โดยไม่ยึดติด กับการทำธุรกิจแบบเดิมๆ
นโยบายการผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่ยุค 4.0 ของรัฐบาล ก็ถือว่าเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง จากการใช้แรงงานราคาถูกแล้วผลิตสินค้าแข่งกันโดยเน้นปริมาณ ซึ่งในยุคปัจจุบัน จำเป็นต้องนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนา แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือนโยบายนี้มีภาพกว้าง แต่ว่าขาดรายละเอียดการพัฒนาที่ชัดเจน โดยเฉพาะการพัฒนาคน ทั้งๆที่รัฐบาลบอกว่า ส่วนที่สำคัญที่สุดของการเข้าสู่ยุค 4.0 คือการสร้างคนไทยให้เป็นคนยุค 4.0