ความพยายามของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการให้ประเทศนี้อยู่ในภาวะสูญญากาศ เพื่อเปิดทางสู่การมีนายกรัฐมนตรีคนกลาง หรือ นายกรัฐมนตรี มาตรา 7
จะด้วยความบังเอิญ หรือจงใจ แต่นี่เป็นอีกครั้ง ที่ชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน คือหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนกลาง นายอานันท์ เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ในรัฐบาลเผด็จการ รสช.โดยมีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นผู้เสนอชื่อ
ชลธิศ อาจมนภาพ เจ้าพ็อกเกตบุ๊ก "ปอกเปลือก อานันท์ ปันยารชุน" กล่าวถึงนายอานันท์ไว้อย่างเผ็ดร้อน ว่าทั้งสองคนสนิทสนมกันมาตั้งแต่ครั้ง นายอานันท์ เป็นเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกา ส่วนพันโทสุจินดา ขณะนั้นเป็นรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
และครึ่งหนึ่งของหนังสือ ความยาวเกือบ 200 หน้า เป็นการเปิดโปง ความไม่ชอบมาพากลการบริหารประเทศ หนึ่งในนั้น คือ นโยบายเปิดเสรีทางการเงิน ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยต้องพังทลาย เป็นวิกฤตฟองสบู่แตก และ 56 สถาบันการเงินต้องปิดตัวลง และอยู่ในความดูแลขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส.ที่มีนายอมเรศ ศิลาอ่อน เพื่อนร่วมกลุ่มผู้ดีรัตนโกสินทร์ ของนายอานันท์ นั่งเป็นประธาน
ต่อมา รัฐบาลนายชวน หลีกภัย เปิดประมูลขายสินทรัพย์ ปรส. ซึ่งกลุ่มบริษัทเยเนอรัล อิเลคตริค หรือ จี.อี. ที่มีนายอานันท์ เป็นทั้งกรรมการที่ปรึกษาบริษัทและที่ปรึกษาส่วนตัวนาย JACK WELCH ประธานกรรมการบริษัท กวาดซื้อไปด้วยราคาถูกแสนถูก เพียง 240,000 ล้านบาท จากมูลค่าทรัพย์สินจริงกว่า 8 แสนล้าน
อีกหนึ่งกรณี ที่ประเทศต้องสูญเสียประโยชน์มหาศาล คือการขายโรงกลั่นน้ำมันให้แก่บริษัทไทย ออยล์ ที่มีนายเกษม จาติกวณิช เป็นประธาน เมื่อปี 2535 ที่ ครม.เซ็นอนุมัติ ทิ้งทวน เพียง 2 วัน ก่อนที่รัฐบาลรักษาการของนายอานันท์จะสิ้นสภาพ
บริษัทไทยออยล์ ได้โรงกลั่นน้ำมันไปในราคา 8,890 ล้านบาท และไม่ต้องจ่ายค่าเช่าต่อปี กว่า 1 พันล้านบาท ทั้งที่ ขณะนั้น มีผู้ให้ราคาสูงกว่าถึง 1 หมื่น 5 พันล้านบาท /และหลังจากนั้น ไทยออยล์ ก็ไม่ได้นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์และเพิ่มทุนตามสัญญา แต่นำโรงกลั่นไปค้ำประกันการขอกู้เงินอีก 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกินกว่ามูลค่าที่ซื้อจากรัฐบาลครึ่งต่อครึ่ง และในปี 2541 บริษัทไทย ออยล์ก็ล้มละลาย ไม่จ่ายหนี้ทั้งในและนอกประเทศ รวมมูลค่าถึง 7 หมื่นล้าน นี่เป็นเพียงเนื้อบางส่วนในหนังสือที่ชื่อ ปอกเปลือก อานันท์ ปันยารชุน ที่พูดถึงข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ที่อาจถูกลืมไปแล้ว