“อ.วิโรจน์-อ.พิชญ์” วิเคราะห์ ปมร้าวใน “พลังประชารัฐ” หลัง 2 หัวหอกของพรรคที่มีที่มาจาก กปปส. “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” ออกมาพูดเรื่องในพรรค...กำลังส่งสัญญาณไปยังผู้มีอำนาจในพรรค ว่ายังไม่อยากเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในพรรค
“อ.พิชญ์” มอง กลัววืดเก้าอี้ แม้จะแสดงตัวชัดเจนว่า ยืนฝั่ง “บิ๊กป้อม” แต่ผลงานไม่มี อาจถูกกลุ่ม-มุ้งอื่นในพรรครุมขยี้
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยัน ยังไม่ได้ลาออกจากกรรมการบริหารพรรค ตามที่มีกระแสข่าว ส่วนที่ระบุว่ามีการพูดคุยกันในกลุ่มต่างๆ นั้นก็เป็นธรรมดาของพรรคการเมือง ยอมรับ อาจมีคนที่อยากเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค แต่ยืนยันไม่ได้อยู่ในกระบวนการที่จะเปลี่ยนหัวหน้าพรรค ซึ่งนายอุตตม สาวนายน ยังทำหน้าที่ของตัวเองไป
ส่วนที่พรรค มีกระแสข่าวเปลี่ยนหัวหน้าพรรคหลายรอบ และหลังจบโควิด-19 จะมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค และปรับ ครม. นั้น ยืนยัน ไม่เป็นความจริง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวทางที่ชัดเจน มุ่งแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นหลัก และมีเรื่อง พ.ร.ก. ที่จะเข้าสู่การที่ประชุมสภา ในเดือนนี้ เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะเป็นความร่วมมือของนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาล การจะเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นไปไม่ได้ และนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำชัดเจนแล้วว่า จะต้องให้ความสำคัญแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นอันดับแรก
นายณัฏฐพล ย้ำว่า หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง โครงสร้างกรรมการบริหารพรรค ก็เพื่อสิ่งที่เหมาะสมกว่า ครบถ้วนในทุกๆด้าน แต่ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาถึงขั้นทำให้พรรคเดินหน้าไม่ได้ ยังคุยกันได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถ้าทำให้คะแนนความนิยมของพรรคดีขึ้น การเชื่อมต่อเขตพื้นที่ น่าจะเป็นสิ่งที่จะต้องปรับปรุง เพราะคะแนนนิยมเป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองต้องการ
ขณะนี้ทุกคนทำหน้าที่กันอยู่ และยังไม่ถึงเวลาที่จะเอาเรื่องการเมือง มาเหนือเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 และ ห้วงเวลาที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์ จะมาเป็นหัวหน้าพรรคนั้น ก็ไม่ใช่ระยะเวลาที่เหมะสมในตอนนี้ ดังนั้นเรื่องการเมืองคงไม่มาเหนือกว่าการแก้ปัญหาโควิด-19
ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะแกนนำพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคมี ส.ส.หลายกลุ่ม แต่สามารถพูคคุยทำงานได้ระดับหนึ่ง สิ่งที่ดีที่สุดของพลังประชารัฐ วันนี้เรามาถูกทางแล้ว แต่ต้องพูดคุยและพยายามหาความร่วมมือ ในหลายๆ ส่วน ที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เช่น ปัญหาความใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารกับสมาชิก อาจต้องจูนเข้าหากันบ้าง เพราะเรามาจากหลากหลายกลุ่ม เมื่อมาอยู่กันก็ย่อมมีปัญหา เป็นเรื่องธรรมดา
นายพุทธิพงษ์ ปฏิเสธที่จะตอบว่า ให้โอกาสนายอุตตม เป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่ และกล่าวว่า ส่วนตัวเรื่องนี้ต้องฟังเสียงสมาชิกของพรรคว่าเอาอย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องถูกแก้ปัญหาจากคนส่วนใหญ่ของพรรค ทั้งสมาชิกและ ส.ส.ว่าจะเอาอย่างไร ยืนยันตนไม่ได้ชี้นำ
ส่วนจะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคหรือไม่ ต้องดูภาพรวมของพรรค ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย พรรคก็จะเดินยาก ส่วนเวลาเหมาะสมเปลื่ยนตัวหัวหน้าพรรค ขึ้นอยู่กับผู้บริหารและสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ ที่จะสะท้อนผ่านที่ประชุมใหญ่ของพรรค ซึ่งภายใน 2 เดือนนี้ อาจจะมีการประชุมใหญ่
นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนไม่สามารถชี้นำได้ เพราะวันที่ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ กับวันนี้แตกต่างกัน เพราะวันที่ก่อตั้ง ยังไม่มี ส.ส. แต่วันนี้มี ส.ส.กว่า 100 คน และสมาชิกหลายแสนคน ดังนั้นต้องฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่