รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 20 เมษายน 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand สงสัย? รัฐบาล หรือ รัฐมนตรีพลังงาน ไปอยู่ที่ไหนมา ทำไมถึงคิดมาตรการลดค่าไฟฟ้า หลังปล่อยให้คน “บ่น และ ก่นด่า” ปมค่าไฟแพงร่วมสัปดาห์ “คำผกา” ชี้ ก่อนหน้านี้ประกาศลดให้ 3% ก็อุ้มคนรวย เพราะคนจนได้ส่วนลดไม่กี่สิบบาท...สวนทางกับแนวจัดเก็บค่าไฟฟ้าอัตราก้าวหน้า ที่คนใช้เยอะ ต้องจ่ายเยอะ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังหารือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม ขานรับนโยบายการทำงานจากบ้าน (Work From Home: WFH) ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนส่งผลให้ยอดการใช้ไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้น
นายสนธิรัตน์ ระบุว่า จะเสนอมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน มี.ค.-พ.ค.63 ต่อที่ประชุม ครม. วันพรุ่งนี้ (21 เม.ย.) ส่วนแรกจะขยายมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับครัวเรือนขนาดเล็กที่ติดตั้งมิเตอร์ขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ ให้ใช้ไฟฟ้าฟรีเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน จากเดิม 90 หน่วย/เดือน
ส่วนครัวเรือนที่ติดตั้งมิเตอร์ขนาดเกินกว่า 5 แอมป์ขึ้นไป จะให้ใช้ไฟฟ้าฟรีในส่วนที่เกินกว่าที่ใช้ในเดือน ก.พ.2563 แต่ต้องไม่เกิน 800 หน่วย โดยส่วนที่เกิน 800 หน่วยจะคิดในปริมาณที่ลดลง 50% และหากเกินกว่า 3 พันหน่วย จะคิดปริมาณการใช้ไฟลดลง 30% จากนั้นจะนำมาคำนวณค่าไฟฟ้าตามปกติ
ขณะที่ แฟนเพจ “โธ่ ชีวิตพนักงานไฟฟ้า” นำเสนอคำอธิบาย และตัวอย่าง 4 สูตรการคำนวณค่าไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ทำให้ค่าไฟพุ่งขึ้น โดยระบุว่า 1. การไฟฟ้า คิดเงินแบบอัตราก้าวหน้ามาตลอด ใช้เยอะจ่ายเยอะ 2. ตัวแปรของค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น คือ หน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พูดง่าย ๆ ก็ คือ คุณใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเลยทำให้ราคามันก้าวกระโดด และ 3. หลายคนคงสงสัย ทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้าถึงขึ้นได้มากขนาดนี้ ? ไฟฟ้ามาทำอะไรกับมิเตอร์? คำตอบ คือ ไฟฟ้าไม่มีใครไปทำอะไรกับมิเตอร์ลูกค้า เอาจริง ๆ นะ พนักงานแผนกมิเตอร์ 7 คน ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าหลักแสนราย
ทีนี้เราต้องมาดูพฤติกรรมของตัวเองและคนในบ้าน ที่บอกว่าฉันใช้ไฟเท่าเดิม ลองคิดนะ / เปิดแอร์ เวลาเดิมทุกวัน 8.00 – 12.00 น. คุณเย็นเท่าเดิมจริง แต่ตัวที่ทำให้มิเตอร์ขึ้นหน่วยไว อยู่ที่คอมเพรสเซอร์ข้างนอก ถ้าอากาศข้างนอกร้อนแค่ไหน หน่วยการใช้ไฟก็ขึ้นไวเท่านั้น เพราะคอมเพรสเซอร์ทำงานหนัก ยิ่งถ้าเปิดแอร์พร้อมกันนะ เสียงคอมฯ ดังนานแค่ไหน คือ ทำใจไว้เลย มิเตอร์กำลังหมุนอย่างแรง และนั่นคือ เงินที่คุณต้องจ่ายไป
เครื่องฟอกอากาศอีก แทบทุกยี่ห้อกินไฟ ตู้เย็น เห็นตั้งนิ่ง ๆ กินไฟแบบเงียบ ๆ หน้าที่ของตู้เย็นคือต้องทำความเย็นในช่องแช่อาหาร ตามอุณหภูมิที่เรากำหนด เช่น เราตั้งไว้ที่ 1 องศา หลักการทำงานของมันคือ ต้องทำยังไงก็ได้ให้ 1 องศาตลอดเวลา นั่นก็ คอมเพรสเซอร์หลังตู้เย็นไงที่เป็นตัวทำงานเปิดตู้เย็นบ่อย ๆ เปลืองไฟจริง เพราะตู้เย็นสูญเสียอุณหภูมิตอนเปิด แช่ของแบบไม่คิด ยัด ๆ เข้าไปก็เปลืองไฟจริง ต้องจัดระเบียบตู้เย็นกันบ้าง
บ้านที่มีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าส่วนมาก จะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าดังนี้ 1. แอร์ พร้อม คอมเพรสเซอร์ // 2. เครื่องฟอกอากาศ 3. พัดลมไอน้ำ 4. ตู้เย็น ยิ่งอัดของเยอะ คอมเพรสเซอร์ตู้เย็นที่ดังตลอดเวลานั่นแหละคือ กำลังกินไฟคุณ ตู้เย็นที่ประหยัดไฟคือตู้เย็นที่แช่แค่เครื่องดื่มไม่เกิน 5 ขวดเท่านั้น ถึงจะได้จ่ายราคาต่อปีตามที่ร้านโฆษณา
สรุปคือ ไฟฟ้าไม่ได้ปรับ หรือ ทำอะไรทั้งนั้น ไม่ได้คิดจะทำอะไรด้วย ไม่ฉวยโอกาสอะไรทั้งนั้น ไฟฟ้าการรันตีราคาให้แบบนี้ [สำหรับบ้านที่ใช้ไฟฟ้าสูงกว่าเดือนละ 150 หน่วย] คือ
– หน่วยที่ 0- 150 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 3.2484 บาท
– หน่วยที่ 151 – 400 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 4.2218 บาท
– หน่วยที่ 400 ขึ้นไป จ่ายราคาหน่วยนะ 4.4217 บาท
ทีมงานจึงยกตัวอย่างเทียบให้เห็นว่า แค่ใช้ไฟเกินเพียงไม่กี่หน่วยก็ทำให้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่ม เช่น แต่เดิมเราใช้ไฟฟ้า เดือนละ 400 หน่วย จะคำนวณแยกเป็น 150 หน่วยแรก × อัตราหน่วยละ 3.2484 = 487.26 บาท ส่วนที่เหลือ 250 หน่วย หรือหน่วยที่ 151 – 400 × ราคาหน่วย 4.2218 = 1,055.45 บาท รวมเป็นเงิน = 1,542.71 บาท โดยราคานี้ยังไม่รวม vat 7 %, ค่าบริการ, หักส่วนลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ FT ที่ขณะนี้ยังติดลบ
ต่อมา หากเราต้องเวิร์ค ฟอร์มโฮม ทำให้ค่าไฟเพิ่มมาเป็น เดือนละ 450 หน่วย ใน 2 ส่วนแรกจะยังคำนวณเหมือนเดิม แต่หน่วยที่ 401 – 450 × ราคาหน่วย ที่จะขยับเป็น 4.4217 = 221.08 บาท / รวมเป็นเงิน = 1,763.80 บาท