รายการ Intelligence ประจำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556
ทันทีที่เปิดรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผลสำรวจคะแนนนิยมหรือ "โพลล์" สำนักต่างๆ ก็หลั่งไหลออกมา พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจมีผลชี้นำการเลือกตั้ง
กระทั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งออกมาขู่ว่าอาจเข้าข่ายความผิดฐานหลอกลวงหรือชี้นำให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัคร
นักทำโพลล์อย่าง กิตติศักดิ์ พรหมรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ยอมรับว่าโพลล์อาจมีผลชี้นำ เพราะผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะเลือกผู้ชนะ ไม่มีใครอยากเลือกคนแพ้ แต่โพลล์ก็คือเสียงสะท้อนจากประชาชน ที่ช่วยให้ผู้สมัครได้ปรับปรุงแนวทางนโยบาย หรือวิธีการหาเสียง
"อย่าเชื่อโพลล์ แต่นำมาคิดพิจารณา" ผู้บริหารทั้งสองสำนักโพลล์ยอมรับว่าโพลล์มีความคลาดเคลื่อนได้ เช่นเอ็กซิทโพลล์เมื่อครั้งเลือกตั้งใหญ่ 2554 ซึ่งแทบทุกโพลล์ชี้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะในกรุงเทพฯ เป็นความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้แม้ทำตามหลักวิชาทุกประการ
ไม่ว่าอย่างไร โพลล์ก็คือสื่อสะท้อนความคิดเห็นประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคนธรรมดาที่ไม่มีโอกาสแสดงความเห็นผ่านสื่ออื่นๆ ยังสะท้อนติติงผู้มีอำนาจผ่านโพลล์ได้ แม้บางครั้ง ผลโพลล์อาจไม่ถูกใจแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองร้อนแรง