รายงานพิเศษจากสำนักข่าวเอพีวันนี้ จะพาคุณผู้ชมไปดูศาสนสถานชื่อดังในเนปาล ที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ หลังชำรุดเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2015
วัดชางกูนารายัน หนึ่งในมรดกโลก ที่มีชื่อเสียงและได้รับความเคารพนับถือในฐานะวัดฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาค ได้รับความเสียหายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งใหญ่ขนาด 7.8 แมกนิจูดที่ประเทศเนปาลในปี 2015
หนึ่งในสถาปนิกชั้นนำของโลก ชาวอังกฤษ 'จอห์น แซนเดย์' หัวหน้าผู้รับผิดชอบในโครงการบูรณะ'อังกอร์ วัด' ศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากกองทุนโบราณสถานโลก ตกหลุมรักวัดชางกูนารายันแห่งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้น เขาจึงกลับมาเยือนที่แห่งนี้อีกครั้งพร้อมกับความกังวล
แซนเดย์ สังเกตได้ว่าวัสดุไม้ภายในวัดโผล่ออกมาเนื่องจากก้อนอิฐที่ปิดทับหลุดหายไปจากการหมุนตัวของเปลือกโลกเป็นจำนวนมาก โดยสิ่งที่ทำให้เขาเลือกเข้ามาร่วมเป็นทีมปรึกษาด้านเทคนิคในการซ่อมแซมบูรณะวัดแห่งนี้ จากวัดทั้งหมด 600 แห่งที่พังทลายจากแผ่นดินไหวในเนปาล คือความศรัทธาของชาวบ้านในหมู่บ้าน
หนึ่งในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในชุมชนชางกูนารายัน ซึ่งศรัทธาวัดโบราณแห่งนี้มานานกว่า 10 ชั่วอายุคน หรือกว่า 325 ปี มองว่าวัดเป็นสถานที่สำคัญ เพราะเป็นสถานที่ที่สื่อถึงพัฒนาการความเจริญรุ่งเรืองของผู้คนในหุบเขากาฐมาณฑุ
แซนเดย์ ยืนยันว่า เขาจะไม่ยอมปล่อยให้วัฒนธรรมเลือนหายไปกับอาคารที่ถูกทำลาย โดยเขาเชื่อมั่นว่าวัดที่เต็มไปด้วยศรัทธาของชาวบ้านแห่งนี้ จะสามารถบูรณะซ่อมแซมให้กลับมาเหมือนเดิมได้อีกครั้งอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามการบริหารงานของรัฐบาลเนปาลเพื่อบรรเทาความเสียหาย และกอบกู้โบราณสถานที่ถูกทำลายจากภัยธรรมชาติ ยังไม่ชัดเจน และยืดเยื้อ โดยยังจำเป็นต้องระดมทุนช่วยเหลืออีกจำนวน 3 แสนดอลลาร์หรือราว 10.8 ล้านบาท