WHO หรือองค์การอนามัยโลกได้จัดอับดับประเทศที่มีภาวะซึมเศร้ามากที่สุดในโลก โดยอันดับ 1 เป็นของประเทศอินเดีย
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เผยรายชื่อ 10 อันดับประเทศที่มีภาวะซึมเศร้ามากที่สุดในโลก โดย 3 อันดับแรกนั้นคือประเทศอินเดีย, จีน และสหรัฐอเมริกา และรองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย, บราซิล, รัสเซีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, ไนจีเรีย และอันดับสิบคือ อิหร่าน
ซึ่งขณะนี้ประชาชนในประเทศดังกล่าวกำลังเผชิญกับอาการป่วยจาก โรควิตกกังวล ซึมเศร้า อาการสองบุคลิก และอาการทางจิตอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศอินเดียที่มีประชากรกว่า 1,200 ล้านคน แต่กลับมีจิตแพทย์ไม่เพียงพอต่อการรักษา หรือในสหรัฐอเมริกานั้นประมาณกันว่า 1 ใน 5 ของผู้ใหญ่ทุกคนล้วนเคยผ่านประสบการณ์เจ็บป่วยทางจิตใจในแต่ละปี ในขณะที่ 1 ใน 25 ของผู้ใหญ่นั้นมีอาการป่วยทางจิตใจอย่างรุนแรงซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึงการรักษานั้นมีเพียง 41% เท่านั้น
นอกจากนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าอาจรุนแรงถึงขั้นจบชีวิตตัวเอง โดยในแต่ละปีมีคนฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้ามากกว่า 800,000 ราย ซึ่งคิดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของคนอายุ 15-29 ปีจากทั่วโลก
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต มีนโยบายที่จะฟื้นฟูระบบดูแลสุขภาพจิตในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ดีของการแก้ปัญหาจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอและค่ายาที่มีราคาแพงด้วย นอกจากนั้นทาง WHO ยังระบุว่าในทวีปเอเชีย จำนวนของจิตแพทย์นั้นมีต่ำมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษา หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังมีจิตแพทย์ไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าเฉลี่ยกับจำนวนประชากรแล้วมีจิตแพทย์เพียงแค่ 13 คนต่อ ประชากร 100,000 คนเท่านั้น