นักวิจัยพัฒนา 'เซนเซอร์ฟังเสียงบาดแผล' เพิ่มประสิทธิการรักษาโดยไม่ต้องเปิดผ้าพันแผล
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแฮเรียต-วัตต์ ในสกอตแลนด์ กำลังอยู่ในช่วงวิจัยและพัฒนาเซนเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กเพื่อฟังเสียงบาดแผลที่อยู่ภายใต้ผ้าพันแผล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถระบุได้ว่าบาดแผลมีการรักษาตัวที่ดีขึ้นหรือไม่โดยไม่ต้องเปิดผ้าพันแผลออกมาตรวจเช็ค
โครงการวิจัยระยะเวลา 2 ปีนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสภาวิจัยทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ทางกายภาพแห่งสหราชอาณาจักร โดยมีดร. ไมเคิล คริสตันผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยแฮเรียต-วัตต์ เป็นหัวหน้าทีม ร่วมด้วยดร. เจนนา แคชผู้เชี่ยวชาญด้านระบบภูมิคุ้มกันการเยียวยาบาดแผล จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ และซารา เมดินา ลอมบาเดโรนักศึกษาปริญญาเอก ร่วมในการวิจัย
'ดร. ไมเคิล'ต้องการทราบว่า หากสามารถนำเซนเซอร์ไปวางบนพื้นผิวเนื้อเยื่อรวบๆบาดแผลหรือตรงข้ามบาดแผลได้ ข้อมูลที่ได้มานั้นจะสามารถนำมาเป็นตัววัดสภาวะของบาดแผลได้หรือไม่
"หากเราเก็บข้อมูลได้ เราก็ไม่ต้องมาเปิดผ้าพันแผลดู ว่าแผลดีขึ้นหรือแย่ลง" ดร. ไมเคิล กล่าว
'เข้าใจ' โครงสร้างบาดแผล เพื่อ 'ฟังเสียง' เนื้อเยื่อ
ก่อนที่เซนเซอร์จะสามารถตรวจจับเสียงของบาดแผลที่ดีได้ นักวิจัยจำเป็นต้องตรวจสอบสภาพชั้นผิวหนังเมื่อโดนบาดหรือมีบาดแผลก่อน โดย'ซารา'กล่าวว่า หน้าที่ของเธอ คือการตัดเนื้อเยื่อจำลองที่ได้มาจากหมู เพราะมีลักษณะคล้ายมนุษย์เพื่อนำตรวจสอบสภาพชั้นผิวหนังและไขมัน
เธอตัดเนื้อเยื่ออย่างระมัดระวัง เพื่อวัดริ้วบาดแผลและสร้างลอยบากเล็กน้อยไว้หนึ่งในลอยถลอกเหล่านั้น เพื่อวิเคราะห์ว่าชั้นผิวแต่ละชั้นจะสร้างคุณสมบัติเชิงกลอย่างไรบ้าง
หลังจากได้ตัวอย่างผิวหนังที่มีบาดแผลแล้ว ซาราจะนำชิ้นเนื้อเหล่านั้นไปยังเครื่องจำลองภาพ 3 มิติ เพื่อนำโครงสร้างของผิวหนังใต้พื้นผิวมาตรวจสอบอีกที โดยเธอจำเป็นต้องทดลองสร้างบาดแผลอย่างหลากหลาย เนื่องจากบาดแผลในชีวิตมีที่มาจากหลายสาเหตุทั้งอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือแผลกดทับ ซึ่งส่งผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป
ขณะที่'ดร. ไมเคิล'ออกมาอธิบายวิธีการที่เซนเซอร์จะตรวจจับเสียงว่า จะเป็นการตรวจจับการสั่นและคลื่นเล็กน้อยจากเนื้อเยื่อ ดร.ไมเคิล อธิบายเพิ่มว่า ท้ายที่สุด มันคือการอนุญาตให้เสียงส่งผ่านเนื้อเยื่ออกมา ซึ่งเราจะได้ตัวบ่งชี้ว่าเสียงสามารถส่งผ่านมาได้เร็วเพียงใด และข้อมูลเหล่านั้นจะให้แนวคิดกับเราถึงความแข็งแรงของเนื้อเยื่อด้านใต้ผิวหนัง
ด้าน'ดร. เจนนา'ออกมากล่าวปิดท้ายว่า โปรเจ็คนี้ไม่ได้ทำไปเพื่อการตรวจสอบแผลภายใต้ผ้าพันแผลเท่านั้น แต่หากเทคโนโลยีสามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้นั่นหมายความว่าเซนเซอร์สามารถนำไปใช้กับอวัยวะภายในที่ได้รับการบาดเจ็บหรือเนื้อเยื่อมะเร็งต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะดูเหมือนการดักฟังอวัยวะภายในของมนุษย์นั่นแหละ