กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับแผนการใช้น้ำในเขื่อน ยืนยันมีน้ำใช้อุปโภคบริโภค เพียงพอถึงเดือนกรกฎาคมนี้
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล , เขื่อนสิริกิติ์ , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ถึง 1 มีนาคม 2559 มีการใช้น้ำไปแล้วรวม 1,994 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้การได้จนถึงเดือนมิถุนายนนี้ ประมาณ 2,945 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการระบายน้ำรวมกันเฉลี่ย 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ส่วนเขื่อนกักเก็บน้ำ 10 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อย อาทิ เขื่อนแม่งัด , เขื่อนกระเสียว เขื่อนลำปาว , เขื่อนลำพระเพลิง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ปรับแผนบริหารการใช้น้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ปรับแผนการส่งน้ำเขื่อนแม่งัด เป็น 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อสัปดาห์ ซึ่งประเมินว่าเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในจังหวัดตลอดแนวเส้นทางก่อนปล่อยลงสู่เขื่อนภูมิพล
ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ เหลือน้ำใช้งานเพียงร้อยละ 3.32 ปริมาณน้ำในเขื่อน 643.12 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 26.40 ยังเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค แต่กระทบภาคเกษตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์
ส่วนพื้นที่ภัยแล้ง ได้ประกาศเพิ่มอีก 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จากเดิมครอบคลุม 47 อำเภอ 21 ตำบล 1,902 หมู่บ้าน ซึ่งนอกจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรทั้ง 8 มาตรการ ยังเร่งช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น จัดหาน้ำเข้าไปแจกจ่าย และขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติม
ส่วนนักบินฝนหลวงที่ลาออก ประมาณ 20 คน จะไม่กระทบการทำฝนหลวงในช่วงหน้าแล้งนี้ โดยรับสมัครเพิ่มอีก 8 คน ทำให้กรมฝนหลวง มีนักบินปฏิบัติการ 54 คน ภายใต้อากาศยาน 41 ลำ อย่างไรก็ตาม อาจร่วมมือกับกรมการบินพลเรือน จัดฝึกนักบินเพื่อเข้ามาปฏิบัติการเป็นนักบินฝนหลวง