นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการเยียวยาเกษตรกร ว่า ได้มีการรวบรวมข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อตรวจสอบความเป็นเกษตรกร ส่งให้กระทรวงการคลัง 8.3 ล้านคน ตรวจสอบความซ้ำซ้อน ที่กระทรวงการคลังช่วยเหลืออยู่ ก่อนที่จะส่งข้อมูลให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ในการจ่ายเงินเยียวยา แต่ผู้ที่ไม่มีบัญชี ธกส. สามารถแจ้งบัญชีธนาคารใดก็ได้
ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นบัญชีนั้น ขอปรับปรุงบัญชี และขึ้นทะเบียนกับ 7 กรม ของกระทรวงเกษตร ถึงวันที่ 15 พ.ค. เพื่อรับการช่วยเหลือตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค. 2563
สำหรับการขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร สามารถยื่นกับผู้นำหมู่บ้าน เพื่อรับรองการทำเกษตรและส่งไปยังเกษตรอำเภอ หรือจะเดินทางไปด้วยตนเองก็ได้ ทุกวัน โดยกระบวนการเยียวยา จะเริ่มจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.เป็นต้นไป รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
ส่วนเกษตรกรรับจ้าง เช่น รับจ้างกรีดยาง ก็จะได้รับการเยียวยาเช่นกัน เเต่ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการรับเยียวยาช่องทางอื่นของรัฐ
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่าในส่วนของกระทรวง พม. ได้มีมาตรการดูแลช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมและเยียวยาคนพิการ โดยมีการลดดอกเบี้ยโรงจำนำ ขยายตั๋วจำนำ ลดภาระด้านการเงิน รวมถึงตั้งโรงทานตามชุมชน เพื่อให้คนเร่ร่อนและผู้ตกงาน ได้รับอาหาร จากผลกระทบโควิด ซึ่งที่ผ่านมา มีประชาชนร้องทุกข์ ผ่านสายด่วน 1300 วันละ เกือบ 20,000 คน โดยกระทรวงได้เข้าไปช่วยเหลือดูแลใช้ชุมชนเป็นกลไกล ผ่านโครงการ "สำรวจพบ จบที่ชุมชน" ซึ่งในพื้นที่ กทม.และกระทรวง พม. มีโครงการ 280 ชุมชน
นอกจากนี้ มีอีก 230 ชุมชน ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือด้านอาหาร ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงประสาน กทม.ที่ดูแลอยู่ 2,000 ชุมชน ขณะที่ต่างจังหวัด พัฒนาสังคมจังหวัด ได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และเครือข่ายเข้าไปดูแลช่วยเหลือ โดยสถานการณ์โดยรวมทั่วประเทศขณะนี้ เบาบางจากตอนแรกที่โควิด-19 ระบาด ที่คนตกงานจำนวนมาก และเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดไม่ได้
ส่วนการเยียวยาคนพิการ จะได้รับเบี้ยผู้พิการ จากเดือนละ 800 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท จำนวน 2 ล้านคน ที่เป็นผู้ลงทะเบียนและมีบัตรผู้พิการทุกประเภท และมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน โดยจะเริ่มจ่ายเดือนตุลาคม เป็นต้นไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :