ไม่พบผลการค้นหา
กรณีแฮชแท็ก #ล้างหนี้กยศ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ภายหลังศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการจัดล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือ ร่างฉบับประชาชน พ.ร.บ. กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. .......... ผ่านเว็บ welfarewillwin.com/sign/ โดย แก้ไข มาตรา 44 เพิ่มเติม วรรคที่ 5 ให้ผู้ทำการกู้ที่สำเร็จการศึกษาเกินสองปีและยังคงมียอดกู้คงเหลือให้ถือว่าสิ้นสุดสัญญาเงินกู้ โดยให้ กองทุนเก็บยอดหนี้คงค้างจากรัฐบาลต่อไป

19 ส.ค.2565 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นประเด็นที่มีข้อโต้แย้งในสื่อสังคมออนไลน์#ล้างหนี้กยศ โดยการล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายยกเลิกหนี้ กยศ. นั้น กองทุนขอชี้แจงว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี

ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,217,458 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 696,802 ล้านบาท และกองทุนมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้กองทุนมีเงินให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องกู้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา โดยในปีการศึกษา 2565 กองทุนได้เตรียมเงินกว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 600,000 ราย 

ที่ผ่านมากองทุน กยศ. เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสและช่วยเหลือผู้กู้ยืมมาโดยตลอด ซึ่งการยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา นอกจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้วยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ 

ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้จำนวน 3,458,429 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท หากยกเลิกหนี้ดังกล่าวจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม กองทุนอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายให้มีความผ่อนปรนและช่วยเหลือลดภาระของผู้กู้ยืม โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้การแปลงหนี้เพื่อขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระและลดอัตราเบี้ยปรับให้มี

ความเหมาะสมยิ่งขึ้น และในขณะนี้กองทุนได้ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ช่วยเหลือผู้กู้ยืมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ดังนี้ 

  • ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ 
  • ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว
  • ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) 

นอกจากนี้กองทุนได้มีมาตรการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ชะลอการบังคับคดีไว้ เว้นแต่คดีที่จะใกล้ขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกันอีกด้วย 

กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่าน้องๆ ที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างกฎหมายปรับปรุงหลักเกณฑ์ของ กยศ.เองก็มีความคืบหน้าอยู่เช่นนั้น โดยก่อนหน้านี้วันที่ 15 ส.ค.2565 อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แถลงว่า กมธ. ได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีการประชุมตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. - 11 ส.ค.2565 รวมการประชุม จำนวน 22 ครั้ง โดยคณะ กมธ. ได้ใช้ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)เป็นหลักในการพิจารณา มีจำนวนทั้งสิ้น 27 มาตรา ซึ่งคณะ กมธ. ได้แก้ไขจำนวน 10 มาตรา ตัดออก 1 มาตรา และเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ 4 มาตรา โดยร่าง พ.ร.บ. มีสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์กับผู้กู้ยืม 5 ประการ ดังนี้

1. ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือไม่เกินอัตราร้อยละ 0.25 ต่อปี จากกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดไว้ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยครม.ได้กำหนดไว้ไม่เกินอัตราร้อยละ 2 ต่อปี

2. ยกเลิกเบี้ยปรับ เพื่อเป็นการลดภาระให้กับผู้กู้ยืม

3. ยกเลิกการค้ำประกันการกู้ยืมในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับปริญญาตรี โดยหากเป็นการกู้ยืมในระดับสูงกว่าปริญญาตรีหรือการให้ทุนการศึกษาตาม มาตรา 6/1 เมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร คณะกรรมการกองทุนจะกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันก็ได้ 

4. กำหนดให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สามารถผ่อนผันให้ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันชำระเงินคืนกองทุนแตกต่างไปจากจำนวน ระยะเวลา หรือวิธีการที่กำหนดได้ หรือสามารถลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุนตามที่ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันร้องขอเป็นรายบุคคลหรือเป็นการทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวให้กระทำได้แม้จะอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้

5. การขยายโอกาสการกู้ยืมให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้บุคคลประเภทต่าง ๆ สามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากกองทุนได้ ดังนี้ 1.) กำหนดให้ผู้ซึ่งจะเข้าศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ สามารถขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้ 2.) กำหนดให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐมีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะซึ่งได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรแล้ว หรือเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยและไม่ได้สัญชาติไทยในขณะที่เกิด โดยมีหลักฐานการเกิดที่นายทะเบียนออกให้ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนได้  

โดยคณะ กมธ.จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 ต่อไป