ไม่พบผลการค้นหา
#ล้างหนี้กยศ คือประเด็นถกเถียงกันอย่างหนักในโลกทวิเตอร์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มต้นจากมีผู้เปิดแคมเปญรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขกฎหมาย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 10,000 ชื่อ เนื้อหาสาระคือให้ 'รัฐบาลเป็นผู้ชำระหนี้ กยศ.ทั้งหมด' เกิดข้อถกเถียงมากมายว่า เห็นแก่ตัวทำลายโอกาสรุ่นน้อง, สร้างแนวทางให้คนขาดวินัย แต่ก่อนจะตัดสินถูก-ผิดกับแคมเปญนี้ หรือข้ามไปเถียงกันในเชิงหลักการวิธีคิด อาจต้องชำแหละดู ‘หนี้’ ให้ชัด แล้วจะตกใจว่าลูกหนี้ กยศ.ต้องเผชิญอะไร
กยศ


หนี้กยศ. ปัญหาใหญ่ขนาดไหน

  • ปัญหาลูกหนี้ กยศ.ไม่ชำระหนี้เรื้อรังมานานแล้ว และฝีแตกในช่วงโควิดระบาดเพราะเศรษฐกิจดิ่งหนัก คนตกงานเยอะ นักศึกษาจบใหม่หางานยาก บทความในเว็บธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 กยศ.มีหนี้เสียแค่ 47% แต่ปี 2563 มีมากถึง 62%
  • ส่วนข้อมูลของ กยศ.เองระบุว่าจนถึงเดือน ก.พ.ปี 2565 มีผู้ผิดชำระหนี้ 41% หรือ 2.1 ล้านราย ในจำนวนนี้ถูกฟ้องแล้วเกือบ 9 แสนราย และพิพากษาแล้วอยู่ในขั้นบังคับคดีเกือบ 2 แสนราย หากคำนวณเป็นตัวเงินแบ่งเป็น

> ‘เงินต้น’ ทั้งหมดราว 83,000 ล้านบาท

> ‘เบี้ยปรับ’ ทั้งหมดราว 28,000 ล้านบาท

> ‘ดอกเบี้ย’ ทั้งหมดราว 18,000 ล้านบาท

  • ถามว่าคนชำระหนี้ปกติจนปิดหนี้ได้แล้วมีเยอะไหม? นับตั้งแต่ตั้ง กยศ.เมื่อปี 2539 มีคนกู้ กยศ.ไปแล้ว 6.2 ล้านคนเศษ มีคนปิดหนี้ได้แล้วเกือบ 1.6 ล้านราย หรือ 25% ของผู้ที่ต้องผ่อนชำระ และคนที่ผ่อนชำระตามปกติมีอยู่ 1.4 ล้านราย หรือ 23% ของผู้ที่ต้องผ่อนชำระ
  • ถ้าดูว่าภูมิภาคไหนกู้เยอะที่สุดจะพบว่า อีสาน 35% ใต้ 18% เหนือ 16% กรุงเทพฯ 13% กลาง 11% ตะวันออก 7% 


หัวใจสำคัญ เบี้ยปรับสูงมาก และคิดดอกเบี้ย 1% จริงหรือ?

  • ปัญหาหลักที่ลูกหนี้ กยศ.ที่ผิดนัดชำระต้องเผชิญก็คือเบี้ยปรับสูงมาก สำหรับดอกเบี้ยปกตินั้น กฎหมาย กยศ.กำหนดไว้ที่ 7.5% ต่อปี (แต่ กยศ.บอกว่าเก็บจริงแค่ 1%) ส่วนดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระสูงถึง 18% ต่อปี
  • ‘เบี้ยปรับ’ หรือดอกเบี้ยปรับ สำหรับผู้ผิดนัดชำระนี่เองที่ทำให้ลูกหนี้ลืมตาอ้าปากแทบไม่ได้ แม้ปี 2562 มีการลดเบี้ยปรับเหลือ 7.5% แล้วก็ตาม ต่อมาเมื่อโควิดระบาด กลางปี 2564 จึงมีมาตรการปรับลดกันอีกแพ็คเกจใหญ่ เบี้ยปรับหั่นเหลือ 0.5% แต่นั่นก็ดึงดูดให้คนใช้หนี้ได้ไม่มากนัก เพราะเศรษฐกิจล่มไปแล้ว
  • ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่สูงมากกลายเป็น ‘แหล่งรายได้’ ของ กยศ. ที่สำคัญ กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนฯ เคยแถลงข่าวว่า ขณะนี้ กยศ.มีรายได้ส่วนนี้อยู่เกือบ 40,000 ล้านบาท ส่วนสยามรัฐเคยรายงานว่า ถ้านับเฉพาะปี 2557-2563 กยศ.มีรายได้จากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับกว่า 16,200 ล้านบาทเศษ เฉลี่ยปีละ 2,315 ล้านบาทเศษ
  • เวลาที่ลูกหนี้ที่ค้างชำระส่งเงินเข้ามา สิ่งที่เจ็บปวดก็คือ ตัดพวกเบี้ยปรับก่อนและดอกเบี้ยก่อน แล้วจึงเป็น เงินต้น หลายคนเผชิญปัญหาว่าเบี้ยปรับสูงกว่าเงินต้น และทยอยชำระมานานแล้วก็ยังไปไม่ถึงเงินต้นเสียที
  • ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ กยศ.คนหนึ่ง ต้องชำระคืนเงินกู้ 480,000 บาท แบ่งเป็นเงินต้น 220,000 บาท เป็นดอกเบี้ย 33,000 บาท เบี้ยปรับ 230,000 บาท และเมื่อมีการประนอมหนี้กัน ลูกหนี้ก็ผ่อนชำระไป 34 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท เงินจำนวนนี้ยังไม่ได้ตัดเงินต้นแม้แต่บาทเดียว
  • ทวี สอดส่อง ส.ส.พรรคประชาชาติ หนึ่งใน กมธ.ที่พิจารณร่างกฎหมายใหม่ของ กยศ.ซึ่งอยู่ในสภาขณะนี้ ส่องลงไปถึงรายละเอียดข้อมูลภาพรวมที่ กยศ.หยิบยกมาชี้แจง กมธ. โดยพบว่า สัดส่วนดอกเบี้ย+เบี้ยปรับต่อเงินต้นของลูกหนี้ทุกประเภท (ทั่วไป, ไกล่เกลี่ย, ดำเนินคดี, บังคับคดี) อยู่ที่ 54.80%
  • หากผู้กู้มีทรัพย์สินก็จะไปสู่กระบวนการบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาด หากไม่มีทรัพย์สิน คนที่จะซวยคือ ผู้ค้ำประกัน แต่ในกระบวนการเหล่านี้ก็กินเวลายาวนานและ กยศ.ยังคงชะลอการขายทอดตลาดเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสผ่อนชำระอีก 6 ปี
สถิติหนี้ กยศ_Page_3.jpg

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กทวี สอดส่อง


ค่าดำเนินคดีพุ่ง ทนายรวย?

  • ในรายงานของ กมธ.พิจาณราแนวทางบริหาร กยศ.พบว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีของต่อลูกหนี้ทั้งหมดรวมแล้วอยู่ที่ราว 10,000 ล้านบาท เฉลี่ยแล้ว 1 คน ตั้งแต่ยื่นโนติสไปจนถึงกระบวนการบังคับคดี จะตกที่รายละ 12,000 บาท


ย้อนเจตนารมณ์ ‘หาเงินเอง’ เพื่อไม่ต้องของบประมาณรัฐถูกต้องหรือไม่

  • ถามว่าทำไม กยศ. กลายมาเป็นหน่วยงานที่ ‘หาเงิน’ จากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับได้เยอะ ด้านหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า หาเงินได้เยอะก็ทำให้นำมาหมุนเวียนโดยไม่ต้องของบประมาณจากรัฐได้ โดยเฉลี่ยปีหนึ่งๆ กยศ.จะใช้เงินราว 20,000 กว่าล้าน แต่ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา กยศ.มีเงินหมุนเวียนเพียงพอโดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐอีกเลย
งบประมาณ กยศ.
  • ทวี สอดส่อง ระบุว่า เหตุที่ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับมหาโหดกลายเป็นประเด็นเพราะแนวคิดเบื้องหลังของกองทุนนั้น หลังจาก สนช.ออกกฎหมาย กยศ.ใหม่ในยุค คสช.ปี 2560 ทำให้ กยศ.กลายเป็นการพาณิชย์ "เป็นกองทุนเพื่อเจตนาหารายได้จากคนยากไร้ที่มีความฝันอยากจะเรียน" โดยเวอร์ชั่นนี้มีส่วนเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์หลายอย่างจากกฎหมายเดิมในปี 2541 เช่น

> จากกำหนด ‘ดอกเบี้ย’ เท่าดอกเบี้ยเงินฝากธ.ออมสิน กลายเป็น ดอกเบี้ย 7.5%

> จากกำหนด ‘เบี้ยปรับ’ ไว้แต่จะเก็บหรือไม่เก็บก็ได้ กลายเป็น ต้องเก็บเบี้ยปรับ 18%

> จากกำหนดให้กองทุนหากำไรไม่ได้ กลายเป็น ลงทุนซื้อหลักทรัพย์รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐได้

ทั้งนี้ การออกกฎหมาย กยศ.ในปี 2560 เป็นการรวม กยศ.เข้ากับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) โดย กยศ.ในปัจจุบันมีเกณฑ์ว่า นักเรียน/นักศึกษา ต้องมีรายได้ของครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี และสามารถกู้ทั้งระดับมัธยมปลาย อาชีวะ ปวช. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี

  • ทวีเห็นว่า รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่ารัฐสนับสนุนการศึกษาแก่ประชาชนให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค และคำสั่ง คสช.เองก็กำหนดว่าจะต้องเรียนฟรี 15 ปี สำหรับ กยศ.นั้นอันที่จริงควรเป็น 'กองทุนเพื่อการศึกษา' ไม่ใช่ 'กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา'
  • “อนาคตของประเทศอยู่ที่คุณภาพของคน การลงทุนกับมนุษย์ให้มีความรู้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ถ้าการรักษาพยาบาลมีบัตรทองรักษาฟรี การศึกษาจะขยับให้เรียนฟรีมีคุณภาพได้อย่างไร อาจมีกองทุนบางประเภทที่ไม่ได้เอาไว้ใช้กับสิทธิ์พื้นฐาน เรื่องนี้อยู่ที่หลักคิดของคนเป็นรัฐบาล เหลื่อมล้ำทางด้านวัตถุก็ว่าแก้ยากแล้ว แต่เราไม่ควรให้มีความเหลื่อมล้ำทางด้านคน การแก้ความเหลื่อมล้ำด้านคนคือต้องให้โอกาสทางการศึกษา" ทวีกล่าว
  • โครงสร้างของบอร์ด กยศ.ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าขบคิด เพราะ รมช.คลัง เป็นผู้มีอำนาจดูแล และตัวบอร์ดก็มีแต่หน่วยงานรัฐที่เป็นฝ่ายการเงินเป็นส่วนใหญ่

มีอำนาจเข้าถึงบัญชีบุคคล ยิ่งกว่าดีเอสไอ

  • ทวี ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กฎหมาย กยศ.เวอร์ชั่น 2560 เปลี่ยนแปลงให้ กยศ.สามารถเข้าถึงบัญชีบุคคลของลูกหนี้ได้ ซึ่งนั่นเป็นอำนาจที่มากกว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เสียอีก สมัยเขาเป็นอธิบดีดีเอสไอ จะเข้าถึงบัญชีบุคคลได้แต่ละบัญชีต้องขออำนาจศาล แต่ กยศ.สามารถเข้าถึงได้และยังสามารถประสานกับนายจ้างทั้งภาครัฐ เอกชน ตัดเงินค่าจ้างของลูกหนี้ด้วย ข้อมูลปี 2563 มีการหักเงินเดือนลูกหนี้ไปแล้ว 4.2 แสนราย จาก 9,100 องค์กร ส่วนใหญ่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น
  • นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้ หนี้ กยศ.เป็นหนี้บุริมสิทธิ์ แปลว่า เป็นหนี้ที่ต้องชำระก่อนหนี้อื่น ซึ่งนั่นสร้างอุปสรรคให้ลูกหนี้ กยศ.ในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน
  • "สถาบันการเงินไหนอยากจะให้คนเป็นหนี้ กยศ.กู้ เพราะเป็นหนี้บุริมสิทธิ์ เพราะหารายได้มาต้องใช้หนี้กยศ.ก่อน แล้วใช้แบงก์ทีหลัง ทำให้ลูกหนี้ต้องกู้กันในครอบครัว หรือหนี้นอกระบบ เรื่องนี้เราพยายามแก้ใน กมธ. แต่แก้ไม่สำเร็จ กฎหมายนี้จึงยังคงมีลัษณะอำนาจนิยมอยู่" ทวี กล่าว


สภากำลังแก้กฎหมาย กยศ. ให้ดีขึ้น จะรอดไหม?

  • อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.เพื่อไทย รองประธาน กมธ.พิจารณาร่างกฎหมาย กยศ.ระบุว่า พรรคการเมืองหลายพรรคได้ยื่นร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยมีแนวทางแก้ไขต่างๆ กัน ผ่านวาระ 1 ของสภามาแล้วและผ่านชั้นกรรมาธิการแล้วโดยใช้ร่างของ ครม.เป็นร่างหลัก ได้ข้อสรุปที่ท้าทายมาก 4 เรื่อง ได้แก่

1.ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือไม่เกิน 0.25% ต่อปี

(ครม.เสนอ 2% ต่อปี ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาลสงวนคำแปรญัตติที่ 2% ขณะที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติเห็นว่า ไม่ควรคิดดอกเบี้ย อุบลศักดิ์ระบุว่า เรื่องนี้สูสีกันมากใน กมธ. ฝ่ายที่ให้คิดดอกเบี้ยกับฝ่ายไม่คิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 13:13 จนประธาน กมธ. สันติ พร้อมพัฒน์ ลงคะแนนให้ฝั่งคิดดอกเบี้ยชนะ อุบลศักดิ์ระบุว่า เพื่อไทยไม่อยากให้คิดดอกเบี้ยเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีการฟ้องร้อง และลูกหนี้ที่มีความสามารถในการจ่ายหนี้ดูได้จากความสามารถในการจ่ายภาษี และจะมีการหักในขั้นตอนนั้นอยู่แล้ว)

2. ยกเลิกเบี้ยปรับ***  

(ฝ่ายรัฐบาลสงวนคำแปรญัตติเรื่องนี้เพราะเห็นว่าต้องคงไว้เพื่อให้ผู้กู้มีวินัยทางการเงิน)

3.ยกเลิกการค้ำประกันระดับ ม.ปลายและปริญญาตรี

4. ผ่อนผันให้ผู้ชำระเงินคืนแตกต่างไปจากจำนวน ระยะเวลาที่กำหนดได้ หรือลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ได้ ทั้งในระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี

  • ปัญหาก็คือ เรื่องนี้ยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมสภาเพื่อพิจารณาวาระ 2 และ 3 ทำให้ต้องลุ้นกันต่อว่า รัฐบาลจะเร่งให้มีการบรรจุวาระหรือไม่ ส่วนฝ่ายค้านพร้อมที่จะร้องขอให้พิจารณาโดยเร่งด่วนหากบรรจุวาระแล้ว ที่สำคัญคือ ประเด็นที่แก้ไขในชั้น กมธ. จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แย่ลงกว่านี้หรือไม่ (สำหรับลูกหนี้ กยศ.) ขึ้นอยู่กับการโหวตของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และหากไม่สามารถบรรจุเข้าสู่วาระได้ทันสมัยรัฐบาลนี้ หรือมีอุบัติเหตุให้ยุบสภาเสียก่อน กฎหมายที่พยายามปรับปรุงกันมานี้ก็ตกไป ความพยายามเปลี่ยนแปลงจะเท่ากับ 0