สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,236 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 12-16 ต.ค. 2563 หัวข้อ 'ความเอื้ออาทรของคนไทย ณ วันนี้' เพื่อสะท้อนความคิดเห็นกรณีสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ทำให้ปัจจุบันพบเห็นข่าวปัญหาสังคมมีมากยิ่งขึ้น คนไร้น้ำใจ ขาดความเอื้ออาทรต่อกัน สรุปผลได้ ดังนี้
1.ทำไม 'ความเอื้ออาทร' ของคนไทยจึงลดลง อันดับ 1 การเปลี่ยนแปลงทางสังคม 73.35% อันดับ 2 การเอาตัวรอด 56.95% อันดับ 3 การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น 53.53% อันดับ 4 ปัญหาปากท้อง 51.91% อันดับ 5 ความสัมพันธ์ในครอบครัว 51.02%
2.'ความเอื้ออาทร' ใดบ้าง ที่ควรเร่งสร้างให้กับคนไทย อันดับ 1 ความมีน้ำใจ 74.94% อันดับ 2 เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม 72.58% อันดับ 3 ความสามัคคี 70.71% อันดับ 4 ความซื่อสัตย์ 69.81% อันดับ 5 ความเสียสละ 68.67%
3.วิธีการปลูกฝัง 'ความเอื้ออาทร' ที่เป็นรูปธรรม อันดับ 1 ปลูกฝังในครอบครัว 87.91% อันดับ 2 ปลูกฝังในสถานศึกษา 78.49% อันดับ 3 สร้างระเบียบวินัย 61.20% อันดับ 4 สร้างความเสมอภาคในสังคม 56.74% อันดับ 5 ปลูกฝังในชุมชน/ที่ทำงาน 53.41%
4.ใคร/หน่วยงานใดที่ควรทำหน้าที่ปลูกฝัง 'ความเอื้ออาทร' อันดับ 1 ครอบครัว 89.93% อันดับ 2 สถานศึกษา 84.86% อันดับ 3 รัฐบาล 59.17% อันดับ 4 ชุมชน/ที่ทำงาน 56.63% อันดับ 5 สื่อมวลชน 50.16%
พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ความเอื้ออาทรเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ค่านิยมและวิถีประพฤติปฏิบัติก็เปลี่ยนไปด้วย คนแก่งแย่ง เอาตัวรอดกันมากขึ้น กอปรกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลกระทบต่อปากท้องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้เกิดปัญหาสังคมและปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ตามมา ครอบครัวและสถานศึกษาจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการปลูกฝังค่านิยมอันดีงามนี้ รวมถึงสถาบันการเมืองเองที่มีหน้าที่บริหารประเทศก็ย่อมมีส่วนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและพัฒนาบ้านเมืองให้ดีขึ้น เพื่อให้คนไทยอยู่ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ดีเอื้อต่อการมีน้ำใจอารีต่อกัน
ศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ความเอื้ออาทร เป็นการแสดงออกของอารมณ์และจิตใจที่สะท้อนความรู้สึกอันดีระหว่างกัน ซึ่งมิได้มีวงจำกัด แต่เพียงกับผู้เป็นที่รักหรือคนในครอบครัวเท่านั้น หากยังแสดงถึงเยื่อใยยึดเหนี่ยวระหว่างกันของคนในสังคมด้วย คนไทย ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีนิสัยโอบอ้อมอารี มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤติการณ์ใดๆเกิดขึ้น คนไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามพละกำลังของตน ความเอื้ออาทรของคนไทยจึงเป็นที่รับรู้รับทราบกันโดยทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ด้วยสายตาที่ปลอบประโลม รอยยิ้มที่ให้กำลังใจ น้ำเสียงที่แสดงความเข้าใจ เห็นใจและอุ้งมือที่อบอุ่น ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนความเอื้ออาทรได้ทั้งสิ้น ผู้รับที่ทุกข์จะคลายทุกข์ผู้รับที่สุขจะสุขยิ่งๆขึ้นไป ความเอื้ออาทรจึงเป็นความรู้สึกลึกซึ้งยิ่ง ผลการสำรวจนี้ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงบทบาทของครอบครัวและสถานศึกษาซึ่งเป็นสังคมปฐมภูมิที่สำคัญยิ่งสำหรับการบ่มเพาะ ปลูกฝัง สร้างนิสัยของความเอื้ออาทรให้เป็นคุณลักษณะของคนไทยอย่างยั่งยืน