ไม่พบผลการค้นหา
ดุสิตโพลเผยภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ทำคนไทยกว่า 62% มีความสุขลดลง ต้องพยายามควบคุมค่าใช้จ่าย แนะรัฐดูแลค่าครองชีพ ลดค่าสาธารณูปโภค ชดเชยรายได้ พักชำระหนี้

วันที่ 8 พ.ย. 2563 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ต่อกรณี “อยู่อย่างไร? ให้มีความสุขในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง” จำนวนทั้งสิ้น 1,374 คน ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ย. เพื่อสะท้อนความคิดเห็นกรณีภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่ต้องดิ้นรนทำมาหากินเพื่อให้ตนเองและครอบครัวอยู่รอด การใช้ชีวิตให้มีความสุขในสภาวะเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่ง สรุปผลได้ ดังนี้

1.ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีผลทำให้ความสุขของประชาชนเพิ่มขึ้นหรือลดลง

  • อันดับ 1 ลดลง 62.66%
  • อันดับ 2 เท่าเดิม 34.72%
  • อันดับ 3 เพิ่มขึ้น 2.62%

2.ปัจจัยอะไร ที่ส่งผลต่อความสุขของประชาชน

  • อันดับ 1 มีรายได้เพียงพอ 79.85%
  • อันดับ 2 สุขภาพแข็งแรง 74.41%
  • อันดับ 3 การงานมั่นคง 67.72%
  • อันดับ 4 ครอบครัวอบอุ่น 66.54%
  • อันดับ 5 สังคมปลอดภัย 58.31%

3.ประชาชนมีวิธีสร้างความสุขให้ตนเองในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองได้อย่างไร

  • อันดับ 1 ต้องลด/ควบคุมค่าใช้จ่าย 70.80%
  • อันดับ 2 ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง 50.99%
  • อันดับ 3 หาทางเพิ่มรายได้ 47.25%
  • อันดับ 4 ทำงานอดิเรกที่ชอบ 40.06%
  • อันดับ 5 ออกกำลังกาย 39.10%

4.มาตรการใดของภาครัฐที่จะช่วยให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น

  • อันดับ 1 ลดค่าสาธารณูปโภค 63.81%
  • อันดับ 2 ชดเชยรายได้ 52.68%
  • อันดับ 3 พักชำระหนี้ 44.05%
  • อันดับ 4 โครงการคนละครึ่ง 36.03%
  • อันดับ 5 เลื่อนการชำระและลดหย่อนภาษี 33.46%
IMG-2563-1604794423.jpg

พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า จากผลสำรวจพบว่าความสุขของประชาชนขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจดีประชาชนก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข รัฐบาลจึงมีหน้าที่สำคัญในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย หากประชาชนยังต้องลดและควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างมีความสุข นั่นสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาคุณภาพชีวิตของรัฐบาลนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ

ดร.ศิริ ชะระอ่ำ นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ผลการสำรวจยังระบุชัดว่ามาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลดค่าใช้จ่ายประจำของครัวเรือนแบบตรงไปตรงมา เช่น การลดค่าสาธารณูปโภค การพักชำระหนี้เงินกู้ประเภทต่างๆ ส่งผลบวกต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก

สามารถสรุปได้ว่า ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นปัจจุบัน มาตรการภาครัฐระยะสั้นที่สร้างการรับรู้ถึงความตั้งใจช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพนั้น มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคด้วยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ (Mega Projects) ได้อย่างน่าสนใจ