ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 18 ราย โดยเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) 17 ราย ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ 4 ราย, เนปาล 1 ราย, สวีเดน 2 ราย, ฟิลิปปินส์ 2 ราย, เคนยา 1 ราย, รัสเซีย 1 ราย, อิตาลี 2 ราย, ลิเบีย 1 ราย, สหรัฐอเมริกา 1 ราย และสหราชอาณาจักร 2 ราย ส่วนอีกรายเป็นผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 4,169 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 2,462 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,707 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก 8 ราย รวมเป็น 3,888 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 221 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 60 ราย
ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกมีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 643,472 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมรวม 69,227,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 1,575,612 ราย โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยสะสมสูงสุด 15,820,042 ราย ตามมาด้วยอินเดีย 9,762,326 ราย ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 151
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่าแม้จะมีข่าวว่าบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19แต่เราดูแลผู้ที่เข้ามาในประเทศ 170,000กว่าคน ซึ่งเหตุการณ์บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากคนที่เข้าพักในสถานที่กักกันโรคของรัฐ เราจะต้องเข้ามาศึกษา โดยวันเดียวกันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18 ราย โดยมี 1 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลบีเอ็นเอช โดยบุคลากรทางการแพทย์รายที่ 1 พบว่ามีการติดเชื้อ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. และจากการสอบสวนโรคก็เจอรายที่ 2-3 โดยมีการเกี่ยวข้องกันคือรับประทานอาหารร่วมกันและทำงานร่วมกันซึ่งโดยปกติแล้วพยาบาล และเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ถ้าอยู่ในการทำงานส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัย เราจึงมีความสงสัยมากที่สุดคือการนั่งร่วมกันรับประทานอาหาร เพราะในส่วนอื่นไม่ได้เกี่ยวข้องกัน และเจอรายที่ 4 ซึ่งมีความสงสัยว่าเป็นต้นทางของการติดเชื้อ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อรายที่ 6 ล่าสุดเกิดขึ้นจากการเอาพยาบาลและผู้ใกล้ชิดมาตรวจเช็กอย่างละเอียดรวมถึงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่สงสัยที่อยู่ในโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวทั้งหมด 851 คน โดยผลตรวจเป็นลบไปแล้ว 745 ราย
ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) เผยแพร่ไทม์ไลน์กรณีพบบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 1 ราย ระบุว่า จากการสอบสวนโรคของกระทรวงสาธาณสุข (สธ.) พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อเป็นบุคลากรทางการแพทย์ หญิงไทย อายุ 29 ปี และเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช (BNH)
สำหรับการติดเชื้อของบุคลากรการแพทย์ทั้ง 6 ราย พบว่า รายที่ 1 พบในวันที่ 3 ธ.ค.และได้ไปเจอ รายที่ 2 และ รายที่ 3 เพราะรับประทานอาหารด้วยกัน เมื่อสอบถามรายที่ 4 ไปเชื่อมโยง ดูแลผู้ติดเชื้อในสถานกักกันโรคของรัฐทางเลือก (ASQ) เกิดจากความผิดพลาด ไม่ได้ตระหนักเรื่องของการสวมหน้ากากอนามัย จึงสงสัยว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อ รายที่ 4 คิดว่าเป็นต้นทางของการติดเชื้อ ทำให้ตอนนี้พบบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อทั้งหมด 6 ราย
โดยไทม์ไลน์ของผู้ป่วยเพศหญิง วัย 26 ปีที่ติดเชื้อพบว่า วันที่ 24-26 พ.ย. 2563 ทำงานที่โรงแรมเลอเมอริเดียน สถานที่กักกัน วัดไข้ผู้ที่ได้รับการกักกันโรค สวมชุดป้องกัน และผลการตรวจผู้ที่กักกันเวลาดังกล่าวไม่พบเชื้อ
วันที่ 28 พ.ย. 2563 ไปทำงานที่โรงแรมพูลแมน จี (Pullman G) สีลม วัดไข้รอบเวลา 09.30-20.00 น. รับใหม่ 3 ราย ผลตรวจไม่มีคนติดเชื้อ พักพร้อมกับผู้ป่วย รายที่ 2 และ รายที่ 4 อยู่ในห้องไม่ได้สวมหน้ากาก ใช้ห้องน้ำร่วมกัน
วันที่ 30 พ.ย. 2563 ปฏิบัติงานห้องไอซียู สวมชุดป้องกันเต็มรูปแบบ แวะซื้อยำหน้าหอ
วันที่ 1-2 ธ.ค. 2563 ทำงานสถานที่กักกันโรงแรมพูลแมนจี และสัมภาษณ์งานโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ฝั่งธนบุรี เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ช่วงเวลา 10.00-10.14 น. ขากลับเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสาทร ไปลงที่สีลม ช่วงเวลา 14.00-14.15 น. แต่สวมหน้ากากตลอด
วันที่ 3 ธ.ค. 2563 กลับมาทำงานที่ รพ.บีเอ็นเอช และได้รายงานกับหัวหน้าจนพบว่าติดเชื้อโควิด-19
วันที่ 4 ธ.ค. 2563 ช่วงเช้าเริ่มมีเจ็บคอ ไอ เข้ารับการรักษาที่ รพ.เอกชน และในเวลา 19.00 น. ผลการตรวจพบเชื้อโควิด-19
ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมสถานบริการสาธารณสุขในการรับมือโรคโควิด 19 ของ จ.เชียงใหม่ และให้กำลังใจบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ว่า ผู้ป่วยโควิด-19 จากกรณี จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ขณะนี้มีจำนวน 46 ราย เป็นการลักลอบเข้ามา 17 ราย เข้ามาถูกต้องและเข้าสู่ระบบกักกัน 27 ราย และติดเชื้อในประเทศ 2 ราย สำหรับพื้นที่ จ.เชียงใหม่ไม่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่มามากกว่า 6 เดือนแล้ว มีเพียง 5 รายจากกรณีท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งลักลอบเข้ามาทั้งหมด ด้วยความเชี่ยวชาญและความรวดเร็วของทีมสอบสวนโรค ทำให้ตามผู้สัมผัสได้อย่างครบถ้วน แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 95 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมากกว่า 300 ราย ตรวจหาเชื้อแล้ว 3 ครั้ง ไม่พบผู้ใดติดเชื้อ ขณะที่การตรวจคัดกรองเชิงรุกโดยรถเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน ตั้งแต่วันที่ 4-9 ธ.ค. 2563 จำนวน 914 ราย ผลเป็นลบทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคผู้เดินทางมาจากประเทศเมียนมา ด้วยการขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล โดยสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง สแกนไทยชนะ บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อ อสม.เฝ้าสังเกตและดูแลบุคคลที่กลับเข้ามาในพื้นที่ ทราบว่าขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่บริเวณชายแดนเพื่อสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย บูรณาการตรวจกำกับกิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองวัดไข้พนักงานและผู้รับบริการ สนับสนุนทีมสอบสวนโรคในการสืบสวนผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย และส่งเสริมการทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ โดยการจัด Big Cleaning Day ทำให้สถานการณ์ของจ.เชียงใหม่ขณะนี้ไม่มีสัญญาณการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ถือว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้แล้วและมีความปลอดภัย
สาธิต กล่าวว่า สำหรับทรัพยากรต่างๆ ทั้งเตียง ยา เวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย ชุด PPE ของ จ.เชียงใหม่ มีความพร้อมรองรับผู้ป่วยประมาณ 3 เดือน โดยมี AIIR 62 เตียง ห้องแยก Isolation Room 69 ห้อง Cohort Ward 369 เตียง ICU 92 เตียง และเครื่องช่วยหายใจ 188 เครื่อง ถือว่าเพียงพอ มีสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (Local Quarantine) มีจำนวน 4 แห่งรองรับได้ 1,158 คน สามารถตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการได้ 2,088 ตัวอย่างต่อวัน และพร้อมยกระดับการบริหารจัดการกรณีมีผู้ป่วยจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยประสานมายังส่วนกลางซึ่งมีการสำรองอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆ ไว้
ทั้งนี้ มีความมั่นใจในการทำงานของบุคลากรในการสอบสวนควบคุมโรค แต่ขอให้เพิ่มเติมเรื่องของการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่า เราไม่มีการปกปิดข้อมูล หากประชาชนมีข้อสงสัยพบคนลักลอบเข้ามา สามารถแจ้งได้ที่หน่วยงานสาธารณสุข
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :