ไม่พบผลการค้นหา
ชาวนาภาคกลาง โวยรัฐอุ้มนายทุน ทำหนี้ถมชาวนา จวกกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ทำหน้าที่ กลับทำตัวเป็นอำมาตย์ ยันปักหลักชุมนุมจนกว่าบรรลุข้อเรียกร้อง

ทีมข่าววอยซ์ทีวีสัมภาษณ์ตัวแทนชาวนาภาคกลาง สมาชิกเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ที่ปักหลักชุมนุมบริเวณเกาะกลางถนน หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (มัฆวานรังสรรค์) ถนนราชดำเนินนอก มาตั้งแต่ 24 ม.ค. เพื่อเรียกร้องรัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกเครือข่ายฯ 

ธนวรรณ ชนประชา ชาวนาจังหวัดสิงห์บุรี สะท้อนปัญหาหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นและราคาข้าวที่ตกต่ำอีกทั้งน้ำและหรือระบบชลประทานไม่เพียงพอ ทำให้ขาดทุนและยังเป็นหนี้สินเกินกว่าจะแบกรับได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนูนากัดกินต้นข้าวเมื่อสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ในบางพลีต้นต้องจับหนูขายซึ่งเคยขายได้สูงสุดปีละหลายหมื่นบาทขณะที่ไร่นาล่มจม 

พร้อมเรียกร้องให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก. ดำเนินการโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินตามบทบาทหน้าที่ โดยเฉพาะลดหนี้ให้ชาวนาที่เป็นสมาชิก ส่วนตัวต้องการให้ลดหนี้สินลงครึ่งหนึ่ง เพราะยังมีเรี่ยวแรงสามารถผ่อนชำระหรือแบกรับหนี้สินได้อยู่แต่ก็มีชาวนาที่ชราภาพและไม่มีกำลังที่จะชดใช้หนี้สินทั้งยังเสี่ยงที่จะถูกบังคับคดียึดทรัพย์สินที่ต้องการให้กองทุนฟื้นฟูช่วยเหลือลดหนี้ลงให้เหลือ 1 ใน 4

โดยธนวรรณ มีที่นาของตัวเอง 20 ไร่และเช่าทำในราคา 1000 บาทต่อรอบการผลิตจำนวน 120 ไร่ปัจจุบันมีหนี้สินอยู่ประมาณ 900,000 บาท

ชนะชัย ปิ่นทอง ซึ่งทำนาจำนวน 40 ไร่ มีหนี้สินที่พอกำลังชำระได้ แต่มาร่วมเรียกร้องและขอเป็นตัวแทนชาวนาภาคกลางแถบ จ.สิงห์บุรี จ.ชัยนาทและ จ.อ่างทอง ต้นทุนการผลิตต่อไร่ประมาณ 3,000- 3,500 บาท มีค่าเช่านาไร่ละ 1,000-1,500 บาท ต่อรอบการผลิต ขึ้นอยู่กับพื้นที่นาว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือไม่ เจ้าของที่นาบางรายคิดค่าเช่า 10-15 ถังต่อรอบการผลิตโดยถังหนึ่งเท่ากับ 10 กิโลกรัม หรือเท่ากับ 100 ถึง 150 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการผลิต ทำให้มีหนี้สินจำนวนมาก โดยเฉพาะกระบวนการตัดเงินดอกมาเป็นเงินต้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์หรือ ธกส. ซึ่งชาวนาไม่รู้เท่าทัน พร้อมกันนี้โจมตีกองทุนฟื้นฟูฯ ว่าไม่ได้ทำตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองที่จะต้องรับใช้เกษตรลาก่อน แต่กลับทำตัวเป็น 'อำมาตย์' 

ชนะชัย กล่าวด้วยว่า รัฐบาลคุ้มนายทุนจนเกินไปและมีแนวคิดไม่อยากให้ชาวนาปลอดจากนี่เพราะเกรงว่าจะควบคุมยาก ราคาข้าวสารกับข้าวเปลือกแตกต่างกันมาก เช่น ราคาข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 6-8 บาทแต่ราคาข้าวสารอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 30 ซึ่งข้าวเปลือก 100 กิโลกรัม สีเป็นข้าวสารได้ 70 กิโลกรัม ถือว่าเป็นการเอาเปรียบชาวนา โดยเห็นว่าไม่ว่ารัฐบาลจะออกนโยบายประกันราคาหรือจำนำข้าวหากราคาข้าวสารข้าวเปลือก ไม่ต่ำกว่า 15 บาทต่อกิโลกรัม ชาวนาก็พออยู่ได้ แต่ควรจะอยู่ที่ราคา 18 บาทต่อกิโลกรัมข้าวเปลือกจึงจะเหมาะสมเมื่อเทียบกับราคาข้าวสาร

โดยเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ยืนยันจะปักหลักชุมนุมจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข มี 3 ข้อ ประกอบด้วย

1.) ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาขิก และเร่งดำเนินการโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมกับขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้ NPA จาก 2.5 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท ซึ่งต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและต้องมีมติ ครม. 

2.) ขอให้ลดหนี้และปลดหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพและเจ็บป่วย ให้เหลือไม่เกิน 25 % ตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้บัญญัติไว้ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ

3.) ขอให้ตรวจสอบปัญหาหารทุจริตพร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ