ไม่พบผลการค้นหา
อดีตเลขาธิการพรรค อนค. โพสต์ครบ 1 ปี สภาฯชุดที่ 25 ชี้ ส.ส.เป็นองค์กรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย้ำตัวเองถูกตัดสิทธิ 10 ปีเพราะคนสวมชุดครุย 7 คน ยันจะเดินหน้ารณรงค์ทางการเมืองปลุกคนส่วนใหญ่สู้กับชนชั้นนำ พร้อมขอให้ติดตาม ส.ส.ก้าวไกลประชุมสภาฯ ชำแหละ พ.ร.ก.

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า วันนี้ (27 พ.ค.2563 ) สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ได้ประชุมครั้งแรกในปีที่ 2 โดยมีวาระสำคัญ คือ การพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนด 4 ฉบับ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... โดยกฎหมายกลุ่มนี้กระทบกับเงิน ที่เป็นของคนไทยทั้งชาติร่วมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท จึงอยากให้ทุกคนได้ติดตามการอภิปรายและการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ได้รับมอบอำนาจจากประชาชน มาใช้อำนาจสูงสุดนั้นแทนพวกเขา

นายปิยบุตรระบุว่า เมื่อ 1 ปี 2 วันที่แล้ว วันที่ 25 พ.ค. 2562 ตนได้เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร และปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในชีวิต ถ้อยคำในการปฏิญาณตนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดมีอยู่ว่า "ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกประการ" ถ้อยคำการปฏิญาณตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแตกต่างจากองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐอื่นๆ ทั้งหมด ตรงที่ไม่มีถ้อยคำว่า "จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์"

สาเหตุมาจากสองประการ ประการแรก สภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงองค์กรเดียวที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ไม่ได้มาจากการแต่งตั้ง ไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สำหรับประเทศไทยที่ใช้ระบบสองสภา แม้บางช่วงบางตอน เรามีสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง แต่รัฐธรรมนูญก็ยังกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาปฏิญาณตามถ้อยคำเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดปฏิญาณเหมือนกัน

ประการที่สอง ในหนังสือหลังม่านการเมืองของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ หน้า 41 ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "...ที่เป็นเช่นนี้ก็สืบเนื่องมาจากคตินิยมฝรั่งที่เคยถือกันมาแต่เดิมในอังกฤษอีกนั่นแหละ ว่ารัฐบาลเป็นผู้รับภาระบริหารราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณ ดังที่เรียกว่า "รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เมื่อจะเข้าทำงานจึงต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ และต้องกล่าวถ้อยคำแสดงความจงรักภักดี เพราะว่ากำลังจะทำราชการ ส่วนสมาชิกรัฐสภานั้นถือว่าไม่ได้ทำราชการ แต่ทำกิจของประชาชน" การปฏิญาณตนร่วมกันของบุคคลที่ราษฎรเลือกมา ในที่ประชุมของตนเอง จึงเป็นพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อย้ำถึงความเป็น "ผู้แทน" ของราษฎร

นายปิบุตร ระบุว่า ปีนี้ต่างจากปีที่แล้วตนไม่มีโอกาสเข้าประชุมสภาฯ เพราถูกคน 7 คนสวมชุดครุยกระทำการในนามศาลรัฐธรรมนูญ สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไปด้วย แต่นั่นไม่ได้สลักสำคัญอะไรนัก เพราะการเพิกถอนสิทธิเช่นว่านั้นเป็นเพียงกลไกทางกฎหมาย เป็นเพียงอำนาจรัฐแบบทางการที่สกัดขัดขวางเราไม่ให้มีโอกาสได้ทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร แต่กลไกเหล่านั้น ไม่มีวันที่จะตัดขาดความสัมพันธ์ยึดโยงผมกับประชาชน ในจิตสำนึกของผม

"ผมยังเป็นประชาชน มีเสรีภาพในการคิดและแสดงออกซึ่งความคิด รณรงค์ทางการเมือง ทำงานทางความคิดกับผู้คน เพื่อหลอมรวมคนทุกคนทุกกลุ่มในนามประชาชน คนส่วนใหญ่ของแผ่นดินนี้สู้กับ "ชนชั้นนำ" คนไม่กี่คนที่ผูกขาดและสูบกินเอาอำนาจและทรัพยากรไป" นายปิยบุตร ระบุ

นายปิยบุตร ยังขอให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ผู้เป็นเจ้าของ "เงิน" ของทั้งประเทศร่วมกัน ติดตามการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล มั่นใจว่า ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่สืบสานปณิธานของพรรคอนาคตใหม่ จะทำหน้าที่ได้ไม่แตกต่างจากมาตรฐานที่เคยทำในปีที่ผ่านมา และ "ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกประการ" สมดังที่ได้ปฏิญาณไว้เมื่อ 1 ปี 2 วันก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง