แม้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ในปัจจุบัน แต่หนึ่งในเครื่องมือโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองและผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ที่มีมายาวนานควบคู่กับการเลือกตั้ง อย่าง 'ป้ายหาเสียง' ก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่พรรคการเมืองเลือกใช้
'อัศวิน โรมประเสริฐ' ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท ดีเจริญ แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมการเลือกตั้งครั้งนี้มีความต้องการใช้ป้ายหาเสียงมากกว่าครั้งก่อน (ก.พ. 2557) สาเหตุหลักมาจากจำนวนผู้สมัคร ส.ส. ในรอบนี้สูงเป็นประวัติการณ์
ทั้งที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ออกกฏให้ผู้ลงสมัคร ส.ส. เขต 1 ราย วางป้ายหาเสียงขนาดคัทเอาท์ (1.3 x 2.45 เมตร) ไม่เกิน 250-300 แผ่นต่อเขต ส่วนของพรรคการเมืองไม่เกิน 100-200 แผ่นต่อเขต
"การเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะมีการใช้ป้ายหาเสียงทั้งหมด 3 - 4 ล้านแผ่น และคาดว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเลือกตั้งในธุรกิจป้ายหาเสียงกว่า 1,000 ล้านบาท" อัศวิน กล่าว
ขณะที่ ประกาศ กกต. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผ่นป้ายสถานที่ปิดประกาศที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ข้อ 8 ระบุว่า ผู้สมัคร ส.ส. จะจัดทำแผ่นป้ายขนาดกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร ยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร ได้ไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตนั้น ส่วนพรรคการเมืองทำแผ่นป้ายได้ไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตนั้น
'ทำป้ายหาเสียง' ต้องมีทั้งประสบการณ์และปัญญา
สำหรับบริษัท ดีเจริญ แอดเวอร์ไทวิ่ง จำกัด ซึ่งมีที่ตั้งโรงพิมพ์และประกอบป้ายอยู่แถวอำเภอไทรน้อย ชานเมืองนนทบุรี มีส่วนแบ่งในการทำป้ายหาเสียงครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 210,000 ป้าย โดยบริษัทรับทำป้ายหาเสียงจากแทบทุกพรรคการเมือง รวมถึงป้ายที่แสดงชื่อผู้ลงสมัครชิงตำแหน่ง ส.ส. ที่ต้องนำไปติดหน้าคูหาในวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคำสั่งการผลิตจาก กกต. ด้วย
'อัศวิน' เล่าว่า ตนทำธุรกิจตรงนี้มาร่วม 10 ปีแล้ว เป็นบริษัทรับผลิตป้ายต่างๆ เช่น ป้ายอิงค์เจ็ท ป้ายโครงการ หรือสติ๊กเกอร์ แต่ช่วงที่มีการเลือกตั้งจะมีคำสั่งผลิตป้ายหาเสียงเพิ่มขึ้น
"ส่วนตัวผ่านการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ทำให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการทำธุรกิจและกฏข้อบังคับต่างๆ ของ กกต. มากขึ้น ซึ่งบริษัทได้เตรียมอุปกรณ์และวัสดุเพื่อให้พร้อมรับคำสั่งการผลิตตั้งแต่ก่อนมีประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนด้วยซ้ำ"
พร้อมยกตัวอย่าง กรณีที่ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ที่มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการทำป้ายหาเสียงน้อย ที่มาสั่งทำป้ายในขนาดที่ กกต. ไม่อนุญาต บริษัทก็ต้องต้องคอยบอกและแนะนำให้ผู้สมัคร ส.ส. หลายคนทราบว่า ขนาดป้ายหาเสียงที่ถูกฏหมายคือเท่าใด
ส่วนประเด็นเรื่องป้ายหาเสียงไปขัดขวางทางเท้าเป็นอุปสรรคต่อผู้พิการ หรือแม้แต่คนเดินถนนทั่วไป
ในฐานะผู้ผลิตป้าย 'อัศวิน' มองว่า สาเหตุหนึ่งมาจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งหากเปรียบเทียบกับพื้นที่ในต่างจังหวัดที่ติดป้ายหาเสียงตามถนนหลักแต่ในกรุงเทพฯ ติดตั้งในซอย ในพื้นที่จำกัดกว่า จึงส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้พื้นที่ทางเท้า
ดังนั้น เขาจึงแนะว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอาจต้องมีการทบทวนเรื่องขนาดป้ายหาเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อความสะดวกของประชาชนมากขึ้น
พร้อมกับบอกปิดท้ายว่า แม้การเลือกตั้งจะทำให้ธุรกิจป้ายหาเสียงมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็อยากให้รัฐบาลที่กำลังจะได้รับเลือกเข้ามาบริหารประเทศอยู่ให้ครบวาระ เพราะอย่างไรเสีย ธุรกิจป้ายหาเสียงก็ยังสามารถทำกำไรจากการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะตามมา ทั้งการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เลือกตั้งผู้ว่า กทม. เป็นต้น
"ถ้าเกิดมีการเลือกตั้งใหม่ เราก็ได้รายได้เพิ่ม ก็จริงครับ แต่เราอยากให้ (รัฐบาล) อยู่ได้นานหน่อย" อัศวิน กล่าว
เวลาที่ธุรกิจป้ายหาเสียงคึกคักในการเลือกตั้งรอบนี้ จากจำนวนผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ สะท้อนความตื่นตัวทางการเมือง หลังจากทุกคนอยู่ภายใต้รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มานาน
อย่างไรก็ตาม อำนาจสูงสุดก็คืออำนาจในมือประชาชนที่จะไปกากบาทเลือกผู้แทนในวันที่ 24 มีนาคมนี้ เพื่อให้การเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติให้ไวที่สุด และการทำมาหากินของประชาชนก็น่าจะฟื้นตัวกลับมาเร็ววันหลังเลือกตั้งเช่นกัน