นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ของพรรค กล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอยุติการดำเนินกิจการพรรคการเมือง ว่า ทางพรรคเพื่อไทยมองว่า การทำเช่นนี้จะสามารถทำได้ในทางกฎหมายหรือไม่ เพราะแม้ในบทบัญญัติจะระบุว่าพรรคการเมืองสามารถเลิกกิจการได้ เช่น การกระทำบางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปตามกฎหมาย, สมาชิกไม่ครบ, ไม่มีการประชุมใหญ่ ก็จะมีการยกเลิกพรรคการเมืองนั้น
แต่การขอยกเลิกในวิธีนี้เป็นการร้องขอนายทะเบียนพรรคการเมือง หรือพรรคการเมืองนั้นมีมติให้ยกเลิกเอง เมื่อมีมติให้ยกเลิกแล้วก็ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีมติว่า การยกเลิกพรรคการเมืองนี้ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเมื่อมีการยุบพรรคจริงในทางกฎหมายก็ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ถ้ามี) สามารถไปหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดได้
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า แม้กฎหมายจะเขียนในลักษณะเช่นนั้น แต่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ การที่พรรคการเมืองตั้งขึ้นและเมื่อหลังเลือกตั้งกลับย้ายยุบพรรคและย้ายไปสังกัดอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าหากทำได้จริงการที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองนั้นก็ไร้ความหมายและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนเลือกมา อีกทั้งอาจจะเข้าข่ายกฎหมายห้ามควบรวมพรรคการเมืองเพื่อให้เกิดพรรคการเมืองใหม่การกระทำเช่นนี้ อาจเป็นการฝ่าฝืนในเรื่องของการควบรวมพรรคการเมืองหรือไม่ การทำเช่นนี้เป็นวิธีทางอ้อมในการควบรวมพรรคการเมืองหรือไม่
อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าพรรคเล็กอื่นๆ อาจจะขอยกเลิกพรรคของตนเองเพื่อไปหาสังกัดใหม่เหมือนในกรณีของนายไพบูลย์ก็ได้ ทั้งนี้ให้รอ กกต.วินิจฉัยชี้ขาด
ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความมีปัญหาของตัวบทบัญญัติ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่พรรคเพื่อไทย ยืนยันจะปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย มองว่าสิ่งสำคัญในทางการเมืองนอกจากตัวบทบัญญัติแล้ว สำนึกในทางการเมืองที่ต้องเคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชนถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า