ตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงทำสถิติอีกครั้ง วันนี้ (9 มี.ค.2563) เพียงวันเดียว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตกรูดลงถึง 108.63 จุด ลงมาอยู่ที่ระดับ 1,255.94 จุด หรือลดลงร้อยละ 7.96 มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 103,624 ล้านบาท
อีกทั้งในระหว่างวันดัชนีลดลงต่ำสุดถึง 115.26 จุด เนื่องจากปัจจัยสถานการณ์สงครามราคาน้ำมัน หลังจากประเทศผู้ค้าน้ำมัน หรือ โอเปก ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการลดปริมาณการผลิตน้ำมันได้ สถานการณ์เช่นนี้กำลังบ่งชี้อะไรถึงทิศทางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และน่ากังวลใจขนาดไหน 'วอยซ์ออนไลน์' ชวนฟังความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ 2 คน จาก 2 ธนาคาร
ราคาน้ำมันตก กระทบเงินเฟ้อปีนี้ติดลบ หวั่นไทยเข้าสู่ภาวะ 'เงินฝืด'
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันทำสงครามราคากัน โดยต่างฝ่ายต่างจะไม่ยอมลดกำลังการผลิต และกำลังจะแข่งขันลดราคาน้ำมันลงมานั้น ทำให้ระดับราคาน้ำมันในเวลานี้ ตกลงมาอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ / บาร์เรล ทั้งที่ระดับราคาน้ำมันที่ดีต่อเศรษฐกิจโลกควรจะอยู่ที่ 50-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำลงมาเช่นนี้ยิ่งจะทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันมีแนวโน้มเศรษฐกิจไม่ดี และวันนี้ก็เห็นว่า ค่าเงินของประเทศส่งออกน้ำมันลดลงถ้วนหน้า ทั้งแคนาดา เม็กซิโก รวมถึงมาเลเซียด้วย ส่วนประเทศผู้นำเข้าน้ำมันมากๆ อย่างประเทศไทย ราคาน้ำมันลดลง ก็ไม่ได้ทำให้คนใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นหรือเดินทางมากขึ้นได้ในตอนนี้ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การเดินทางต่างๆ น้อยลง "จะเห็นว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมาแรงๆ อย่างนี้ นอกจากสะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังนำไปสู่ผลกระทบต่อความมั่งคั่งของโลก ซึ่งก็เห็นว่าวันนี้ (9 มี.ค.) ราคาหุ้นตกทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ตกแรงมากด้วย เหล่านี้สะท้อนเรื่องความมั่งคั่งของคนที่ลดลง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายที่ลดลงด้วย" นายยรรยง กล่าว นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทย ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ยังต้องมีผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ อ้อย น้ำตาล ยางพารา ซึ่งราคาล้อไปกับราคาน้ำมัน คือเมื่อราคาน้ำมันลดลง ราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ก็จะลดลงไปด้วย
อีกประเด็นที่ต้องกังวลคือ เมื่อราคาน้ำมันลดลงมากขนาดนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้ ก็มีโอกาสลดลงไปอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 0 ซึ่งในภาวะเงินเฟ้อติดลบ การใช้จ่ายชะลอตัวชัดเจนจากไวรัสโควิด-19 และจากการศึกษาของ SCB - EIC ก็พบว่า ในตะกร้าราคาสินค้ามีสินค้าหลายรายการราคาลดลง ปัจจัยเหล่านี้ เข้าองค์ประกอบ 'ภาวะเงินฝืด' ได้ ซึ่งส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน ภาคครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย กลายเป็นวัฎจักรที่ไม่ดี กดดันให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงได้อีก
"ภาวะเช่นนี้ จึงทำให้คาดว่า กนง. น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มได้อีก แม้จะไม่ได้กระตุ้นความต้องการซื้อใหม่ได้ แต่ก็สามารถช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายขึ้น ช่วยการปรับโครงสร้างหนี้ของเอกชนและประชาชน รวมถึงต้องมีมาตรการภาคการคลังออกมากระตุ้นการใช้จ่ายต่างๆ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของภาคเอกชน" นายยรรยง กล่าว
วิกฤตราคาน้ำมันลดฮวบ กระทืบซ้ำเศรษฐกิจไทย
ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ราคาน้ำมันร่วงลงร้อยละ 30 จากการที่ซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อตกลงการคุมกำลังการผลิตน้ำมันกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซีย โดยจะขยายกำลังการผลิตเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด (Market share) ซึ่งซาอุฯ เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมไปถึงลดราคาน้ำมันดิบลงหลังจากที่การเจรจาของกลุ่มโอเปก ประสบความล้มเหลวในการขยายข้อตกลงกับรัสเซีย
ส่งผลให้สำนักวิจัยฯ มองว่า
หนึ่ง: ซาอุดีฯ ไม่อยากเห็นสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ตามมาด้วยรัสเซีย ขณะที่ตัวเองเป็นเบอร์สาม เลยไม่สนราคาที่ลงเพราะต้นทุนต่ำกว่าพวก เรียกว่าลดราคาได้เต็มที่แย่งฐานลูกค้ามาก่อน (ปัจจุบันซาอุดีฯ จำกัดการผลิตไม่เกิน 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
สอง: สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบแน่ เพราะเป็นผู้ผลิต เมื่อราคาลงต่ำกว่าต้นทุน บริษัทน้ำมันจะขาดทุน ปิดกิจการ เลิกจ้าง รอดูว่าผลลบจะแรงเหมือนช่วงที่ซาอุฯ ทำตอนปลายปี 2515-2516 หรือไม่ แต่เศรษฐกิจที่ชะลอ เฟดอาจลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบวันที่ 17-18 มี.ค. นี้อีกร้อยละ 0.5
สาม: เศรษฐกิจโลกผันผวนต่อเนื่องหลังไวรัสโควิดกดดันภาพรวม ซึ่งนอกจากอุปสงค์จะลดลงจนกระทบการส่งออกแล้ว สินค้าส่งออกของไทยยังมีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน เช่น เคมี ปิโตรเลียม ยาง และสินค้าเกษตรต่างๆ ซึ่งจะมีผลให้การส่งออกปีนี้ติดลบหนักได้ ขณะที่การนำเข้าจะกลับติดลบหนักกว่าการส่งออก เพราะไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิน้ำมัน มากกว่าร้อยละ 10 ของการนำเข้า ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันลง การนำเข้าโดยรวมก็จะลดลงด้วย อีกทั้งเอกชนจะชะลอการลงทุน มีผลให้การนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบหดตัวตาม โดยสรุป การส่งออกสุทธิ (ส่งออกหักนำเข้า) จะเติบโตได้ ทำให้จีดีพีไทยไม่ทรุดแรง
สี่ : กลุ่มอุตสาหกรรมที่เสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ลดลง ได้แก่ กลุ่มสำรวจน้ำมัน กลุ่มเคมีปิโตรเลียม กลุ่มยาง ข้าว สินค้าเกษตร ปั๊มน้ำมัน และกลุ่มอื่นๆ ที่อาจขาดทุนสต๊อกน้ำมันและราคาสินค้าหรือรายได้เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน
ห้า : กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง ได้แก่ กลุ่มที่ได้กำไรจากต้นทุนที่ต่ำลง เช่น ขนส่ง สายการบิน การบริโภคกลุ่มท่องเที่ยว แต่น่าเสียดายที่กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดเสียก่อน จนอาจไม่สามารถชดเชยได้
ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์อาจต้องออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจกันอีกรอบ และจีดีพีไทยมีโอกาสโตได้ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 ในช่วงครึ่งปีแรก จากไวรัสโควิด-19 แต่เมื่อราคาน้ำมันลงหนักเช่นนี้ เศรษฐกิจไทยอาจดูแย่ลง ซบเซาลง สินเชื่อโตช้าลง แต่จะเกิดการเติบโตทางเทคนิค (technical growth) จากการส่งออกสุทธิที่เติบโตหลังการนำเข้าหดตัวแรงกว่าการส่งออกที่ทรุด ซึ่งน่าจะพอพยุงจีดีพี ให้ขยายตัวได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเงินเฟ้อต่ำ กำลังซื้อหดหาย ก็มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยได้ในรอบการประชุมวันที่ 25 มี.ค.นี้ สู่ระดับร้อยละ 0.75 ต่อปี ด้านค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเพียงระยะสั้นจากความกังวลของนักลงทุนต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่ไม่นานจะพลิกมาแข็งค่าเทียบสกุลอื่น รวมทั้งดอลลาร์สหรัฐฯ จากการนำเข้าที่หดตัวแรง มีโอกาสเห็นเงินบาทลงต่ำกว่าระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :