ไม่พบผลการค้นหา
รมว.คลัง แจงเหตุผลทำไมต้องแจกเงินแสนล้าน สู้วิกฤตผลกระทบโควิด-19 ย้ำคลังมี 2 เครื่องมือ 'ภาษี-อัดฉีดเงินเข้าระบบ' เวลานี้สถานการณ์เกินคาดเดา จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ เพิ่มกำลังซื้อ ส่งเงินตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ 'ดร.อุตตม สาวนายน' ชี้แจงประเด็นข้อเสนอใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท แจกเงินผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระผ่านพร้อมเพย์ โดยระบุว่า

ทำไมต้องแจกเงิน (ตรงถึงมือประชาชน) มีข้อสงสัยกันมาก เรื่องที่กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัยไวรัสโควิค-19 ด้วยวิธีการส่งเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิเพื่อให้นำเงินไปใช้จ่าย ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้าครม. เร่งด่วน ทั้งนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้บทบาทกระทรวงการคลัง มีอยู่ 2 แนวทาง คือ 1.มาตรการทางภาษี เช่น การยกเว้นหรือการลดภาษี เพื่อให้เกิดเม็ดเงินส่วนต่างจากภาษีที่ลดไป หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ กับ 2.การนำเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบ ก็คือส่งให้กับประชาชนไปใช้จ่ายโดยตรง

ต้องยอมรับว่าวันนี้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิค-19 รุนแรง และไม่อาจคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะดำเนินถึงเมื่อไหร่ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการระยะสั้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ และการส่งเงินให้ถึงประชาชนเพื่อเอาไปใช้จ่าย คือ มาตรการที่ได้ผลเร็วที่สุด และเมื่อสถานการณ์ทุเลาลงแล้ว ก็ต้องมีมาตรการอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจต่อไป สำหรับการส่งเงินถึงมือประชาชนโดยตรงนั้น เป็นเพียง 1 ในชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มเป้าหมาย และเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของทุกฝ่ายอีกครั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ก่อนที่จะเสนอที่ประชุม คณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป

สำหรับเป้าหมายของมาตรการนี้เพื่อให้ประชาชนนำไปซื้อสินค้า ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เมื่อมีการซื้อขายสินค้าบริการต่างๆ เกิดขึ้น เม็ดเงินก็จะหมุนไปในหลายๆ ภาคส่วน และหลายๆ รอบ คือเมื่อเกิดการซื้อ ก็มีการผลิต เมื่อมีการผลิตก็จะมีการจ้างงาน มีการซื้อวัตถุดิบ เราต้องช่วยกันครับ คนไทยทุกคนกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ความร่วมมือร่วมใจกันจะพาเราผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ขอบคุณครับ

อุตตม.jpg

ส่วนผู้แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กของนายอุตตม ระบุข้อเรียกร้องต่างๆ เช่น ให้ลดภาษีน้ำมัน 3 บาทต่อลิตร ลดภาษี Vat เหลือ 4 เปอร์เซ็นต์, เงินที่แจกไปผลิต N95 แจกทีมแพทย์ตาม รพ.ต่างๆ ดีกว่าหรือไม่, ควรยืดหนี้/ขยายระยะเวลา/กระตุ้นระบบการค้าเล็กๆ และคนที่มีหนี้ในระบบไม่ว่าประชาชนหรือข้าราชการเป็นกลุ่มที่บริโภคมากส่วนหนึงช่วยเหลือโดยไม่ต้องให้เงิน แต่ใช้มาตรการลดภาระด้านระยะหนี้ก็จะช่วยกระตุ้นได้ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :