ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญการจัดการนวัตกรรมเตือนว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในหลายประเทศขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ละเลยการให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ซึ่งหากคนไม่พร้อม เมืองอัจฉริยะก็ไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้

นิตยสารฟอร์บสเผยแพร่บทความ Smart Cities Are Built By Smart People, Not Smart Things เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562 โดยเป็นความคิดเห็นของ 'เอลลิส ทาลทัน' และ 'เรมิงทัน โทนาร์' ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการนวัตกรรมและพัฒนาโครงการก่อสร้าง ซึ่งมองว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city ให้เกิดขึ้นจริงได้ต้องอาศัยบุคลากร หรือ 'ผู้อยู่อาศัย' ที่มีความรู้และมีความสามารถเพียงพอที่จะทำให้เมืองอัจฉริยะดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

บทความของทาลทันและโทนาร์ระบุว่า เมืองอัจฉริยะที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยไม่มีทางไปรอด ถ้าผู้อยู่อาศัยในเมืองเหล่านี้ 'ไม่มีความรู้' หรือไม่ฉลาดพอที่จะนำข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้จากนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์ ซึ่งบุคลากรในเมืองอัจฉริยะต้องมีวิจารณญานพอที่จะประเมินว่า เมื่อใดควรพึ่งพาเทคโนโลยี และเวลาใดควรลงมือปฏิบัติเอง 

ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมความรู้ของบุคลากรต้องไม่ยึดติดกับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) เท่านั้น แต่ต้องผสมผสานความรู้ด้านศิลปศาสตร์ที่สามารถเติมเต็มด้านการออกแบบเชื่อมโยงอย่างสร้างสรรค์ และเข้าใจในความต้องการของมนุษย์

เนื้อหาในบทความยังอ้างอิงคำนิยาม smart city ของ 'สตีเฟน เบนจามิน' ประธานสมาคมนายกเทศมนตรีแห่งสหรัฐฯ (USCM) ซึ่งเข้าร่วมการประชุมที่นครนิวยอร์กเมื่อต้นเดือน ก.ค. และได้พูดถึงแนวคิดเรื่อง 'เมืองอัจฉริยะ' ว่าเป็นการขับเคลื่อนให้เมืองต่างๆ ฉลาดขึ้นกว่าเดิมในแง่ของการจัดการและการใช้งานข้อมูลควบคู่ไปกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลดกระบวนการทำงานต่างๆ ให้น้อยลง แต่ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น


เมืองอัจฉริยะ หรือเมืองแห่งหนูทดลอง?

นิยามเรื่อง smart city อีกอันหนึ่งซึ่งปรากฏในบทความของฟอร์บส มาจาก 'บอยด์ โคเฮน' นักวิชาการแห่งวิทยาลัยธุรกิจ EADA ในสเปน ซึ่งครอบคลุมกว่านิยามของสตีเฟน เบนจามิน มองว่าเมืองอัจฉริยะคือการนำนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกด้านของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณสาธารณะ การเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมสร้างสรรค์แนวทางการอยู่ร่วมกัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีเจตนารมณ์ส่งเสริมระบบนิเวศของสังคมให้ยั่งยืน ซึ่งการจะสร้างเมืองอัจฉริยะเช่นนี้ได้ต้องอาศัยความรู้และความพร้อมของผู้อยู่อาศัยด้วย

  • โครงการ Senseable City Labs ของสถาบัน MIT ทดสอบเรื่องการใช้พาหนะรับส่งคนในนิวยอร์กอย่างไรให้ประหยัดเวลาที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทาลทันและโทนาร์สนับสนุนแนวคิดเรื่อง Senseable City ซึ่งหมายถึงเมืองแห่งการรับรู้และมีไหวพริบมากกว่าความเป็นอัจฉริยะแบบ smart city โดยผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ คือ 'คาร์โล แรตที' และ 'แมทธิว คลอเด' จากสถาบัน MIT ผู้ร่วมเขียน The City of Tomorrow: Sensors, Networks, Hackers, and the Future of Urban Life ซึ่งระบุว่า Senseable City มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการวางแผนและพัฒนา เพื่อให้เทคโนโลยีสามารถตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้อย่างครอบคลุม และบูรณาการให้เกิดระบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เทคโนโลยีดิจิทัล โครงสร้างทั้งด้านกายภาพและสาธารณูปโภค รวมถึงนวัตกรรมทางสังคม

ทาลทันและโทนาร์ยกตัวอย่างเพิ่มเติม กรณี Sidewalk Labs โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของ Alphabets บริษัทแม่ของกูเกิล ที่ยื่นเสนอต่อสภาเทศบาลเมืองโทรอนโตของแคนาดาตั้งแต่ปี 2017 โดยหวังว่าจะได้สัมปทานพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อดำเนินการเมืองอัจฉริยะต้นแบบ แต่กลับถูกชาวเมืองจำนวนมากต่อต้านเพราะรู้สึกว่าการวางแผนพัฒนาเมืองไม่คำนึงถึงความเห็นของประชาชนในพื้นที่

ล่าสุดบีบีซีรายงานว่า ชาวเมืองบางส่วนต้องการให้รัฐบาลล้มเลิกโครงการนี้ไปเลย เพราะรู้สึกว่าตนกำลังจะกลายเป็น 'หนูทดลอง' ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และเกรงว่าจะถูกแทรกแซงหรือสอดแนมความเป็นส่วนตัว


การบริหารแบบ 'ระบบราชการ' อุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

คำเตือนของทาลทันและโทนาร์ สอดคล้องกับความคิดเห็นของ 'เจเรมี เคลลี' ผู้จัดการสถาบันที่ปรึกษาด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ JLL ซึ่งเปิดเผยกับวารสาร World Property Journal เมื่อ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเขาระบุว่า การจะทำให้เมืองอัจฉริยะประสบความสำเร็จต้องเริ่มจากการคำนึงถึงเทคโนโลยีให้น้อยลง แต่ต้องคิดให้มากขึ้นว่าจะใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างไรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีกว่าเดิม

สิงคโปร์.jpg
  • สิงคโปร์ประกาศวิสัยทัศน์เมืองอัจฉริยะตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา (Photo by R.H. Lee on Unsplash)

ข้อมูลของ JLL ระบุว่า ทั่วโลกมีแผนพัฒนาผลักดันโครงการเมืองอัจฉริยะมากกว่า 1,000 พื้นที่ โดยเป็นการยื่นข้อเสนอจากทั้งภาครัฐและเอกชน แต่มีเพียง 15 โครงการเท่านั้นที่กำหนดเป้าหมายและวางแผนยุทธศาสตร์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว และมีเพียง 8 โครงการเท่านั้นที่วางแผนยุทธศาสตร์และกำหนดกรอบการทำงานอย่างละเอียดพอที่จะเริ่มดำเนินการได้ทันที

นอกจากนี้ 'เอเชียแปซิฟิก' ถือเป็นภูมิภาคที่มีโครงการเมืองอัจฉริยะรอดำเนินการอยู่มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเกือบ 500 โครงการอยู่ในประเทศจีน และราว 100 โครงการในประเทศอินเดียกำลังรอการพัฒนาช่วงปี 2017-2022 ขณะที่สิงคโปร์กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City Vision มาตั้งแต่ปี 2014 และในปี 2018 ที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียได้ลงนามความร่วมมือกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนว่าจะสนับสนุนงบประมาณกว่า 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะร่วมกับประเทศภาคีต่างๆ

เคลลีกล่าวว่ากลุ่มทุนและผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่อาจจะส่งเสริมให้แนวคิดเมืองอัจฉริยะเป็นจริงได้ โดยผู้ลงทุนควรคำนึงถึงการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานเข้ากับอาคารบ้านเรือน เพื่อสร้างบรรยากาศของเมืองที่มีพลัง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย นำเทคโนโลยีทั้งด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) มาใช้ในการแก้ปัญหาจากการขยายตัวของเมือง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านจราจรหรือความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้อาจทำให้คนในสังคมต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิธีการทำงาน แต่ก็น่าจะเป็นผลดีต่อหลายเมืองในแถบเอเชียแปซิฟิกที่อัตราการเติบโตของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เคลลีสะท้อนความเห็นว่า การผลักดันโครงการเมืองอัจฉริยะในเอเชียแปซิฟิกยังดำเนินไปอย่างช้าๆ เพราะติดปัญหาใหญ่ซึ่งเป็นประเด็นร่วมของภูมิภาค นั่นก็คือ การดำเนินงานภายใต้ระบอบราชการ เพราะยิ่งเมืองมีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ การบริหารจัดการก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น การยื่นเรื่องต่างๆ ต้องอาศัยขั้นตอนมากมาย และรัฐบาลในหลายประเทศยังคงพิจารณาอนุมัติเฉพาะโครงการนำร่องขนาดเล็กเท่านั้น เพราะประเมินแล้วว่าจะไม่สูญเสียเวลาหรือทรัพยากรด้านต่างๆ มากนักหากเกิดความผิดพลาดระหว่างดำเนินการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง