ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนระอุ จากการชุมนุมหลากหลายกลุ่ม มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ยุบสภา ยุติการคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขณะที่การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 นักศึกษาบางส่วนได้มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้ปฏิรูปสถาบันหลัก บรรดาศิลปินและดารา คนในวงการบันเทิงหลายคนใช้สื่อโซเชียลส่วนตัวทั้ง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ฯลฯ แสดงความคิดเห็นทางการเมือง
อีกทั้งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการต้านการคุกคามทางการเมืองกับแกนนำผู้ขึ้นปราศรัยในแฟลชม็อบ รวมไปถึงบุคคลทั่วไป ให้สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเสรีภาพ โดยไม่ถูกคุกคามหรือลิดรอนสิทธิจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งบางคนยังเป็นเพียงนักศึกษาและเยาชนเท่านั้น
ภายหลัง อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. และได้รับการประกันตัวออกมาในเวลาต่อมา
ก่อนที่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำนักศึกษาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 14 ส.ค. และได้รับการประกันตัวในช่วงบ่ายวันที่ 15 ส.ค. โดยศาลอาญาให้ประกันตัวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ แต่มีเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกันที่ถูกกล่าวหา ไม่เช่นนั้นจะผิดสัญญาประกันมีโทษปรับ 1 แสนบาท
ขณะเดียวกันเหล่าศิลปินที่ออกมาเปิดหน้า อยู่เคียงข้างฝั่งผู้เรียกร้องอย่างสันติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ก็ถูกโจมตีจากฝั่งที่มีความเห็นต่าง แต่ก็ยังยืนหยัดประกาศอุดมการณ์ชัดเจน อาทิ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือ แอมมี่ เดอะบอตทอมบูลส์ ที่ใช้เฟซบุ๊กเพจแสดงความคิดเห็น "การแสดงออกของเด็กอาจจะผิดหรืออาจจะถูก แต่การที่ผู้ใหญ่ใช้อำนาจคุกคามเด็ก มันไม่มีความถูกต้องใดใดเลย" รวมถึงระบุถึงผู้จัดงานคอนเสิร์ตหากอุดมการณ์ขัดแย้งกัน สามารถยกเลิกงานได้ทันที และเขายินดีคืนเงินมัดจำทั้งหมดเต็มจำนวน
หลังศิลปินที่ออกมาเคลื่อนไหว ถูกโจมตีควรจะอยู่บนเวทีแสดงมากกว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและฐานแฟนคลับได้ สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือ ฮาร์ท นักร้องชื่อดังวง 'เบิร์ดกะฮาร์ท' เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่แสดงจุดยืนในสถานการณ์นี้ชัดเจน
โดยใช้เฟซบุ๊ก Suthipong Heart ThatphiThakkul โพสต์ข้อความเนื้อหาว่า "สำหรับคนที่ชอบแนะนำให้ผมอยู่เฉยๆ หรี่ตาและร้องเพลงต่อไปจะดีกว่า…ขอบคุณมากครับ" โดยเป็นภาพคอมเมนต์หนึ่งที่กล่าวว่า "ร้องเพลงไปจะดีกว่า" ที่ได้ตอบกลับแบบย้อนถามไปในตัวว่า "ถ้าชาติฉิบหายแล้วใครที่ไหนจะมาจ้างพี่ไปร้อง?"
สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเซนต์จอนห์น เรียนระดับมัธยมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จบระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ที่ UCLA และปริญญาโทจาก University Of South California สาขาเศรษฐศาสตร์ นอกจากประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางกับการเป็นนักร้อง เขายังเป็นผู้ประกาศข่าว นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ และพิธีกร ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรคประชากรไทย ในยุคที่ สมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ต้นปี 2540 และพ้นจากกรรมการบริหารพรรคปลายปีเดียวกัน
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา เขาปรากฏตัวบนเวที 'CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของประชาชน' ที่ ลิโด้ คอนเน็คท์ เป็นแขกรับเชิญร้องเพลง What A Wonderful World เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Good Morning, Vietnam ที่เล่าถึงความผิดพลาดครั้งใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปแทรกแซงการเมืองเวียดนาม และอีกเพลงคือ 'สู้ไม่ถอย 2020' แปลงเนื้อจากเพลงสู้ไม่ถอย ซึ่งเดิมแต่งเนื้อร้อง/ทำนองโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และเปลี่ยนมาใช้ทำนองเพลง 'ฝากรัก' ของ 'The innocent'
เขาให้เหตุที่นำเพลงนี้มาร้อง เพราะอยากลบความเห็นต่าง ยอมรับความเห็นไม่ตรงกัน นำเข้ามาในใจเรา เปิดใจให้กว้าง และยอมรับว่ามีหลายคนในประเทศนี้ ในสังคมนี้ที่เขาคิดไม่เหมือนเรา และเราก็ไม่ควรที่จะไปเกลียดเขา เพียงเพราะว่าคิดไม่เหมือนกัน
"ผมก็เลยตัดสินใจเอาเนื้อเพลงที่ผมฟังทีไรแล้วก็นึกถึง กปปส. ด้วยความอวิชชาของผม ผมคิดอยู่เสมอว่าไอ้เพลงนี้ สู้เข้าไป ผมเห็นภาพคุณสุเทพแกว่งแขน สู้เข้าไป ภาพยังอยู่ในหัว ผมก็เลยตัดสินเอาเนื้อเพลง เพลงนี้นำมาใส่ให้มันดูนุ่มนวลขึ้นและนำมาร้องให้เพื่อนๆ ได้ฟังกัน บางคนอาจจะเกลียดผม คุณฮาร์ทนี่เป็นสลิ่ม เป็นอะไรก็แล้วแต่นะ เพียงแต่ว่าเพียงแค่เราเปิดใจ"
"แล้วผมก็ได้มารู้ทีหลังว่าเพลงนี้มันไม่ใช่เพลง กปปส.มันเป็นเพลงที่นักศึกษานักเรียนเขาร้องในการประท้วงรัฐบาลถนอม ประภาส ตั้งแต่ปี 2516 แล้ว ผมโคตรซื่อบื้อเลย แล้วคนที่ให้ความรู้กับผม ก็คือคุณหมอเลี้ยบ คุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผมทำเพลงนี้เสร็จผมก็ส่งให้คุณหมอฟัง คุณหมอบอกว่า ผมดีใจจังเลย เพลงนี้จริงๆ แล้วเป็นของพี่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล รุ่นพี่ผมประมาณ 6 รุ่น ซึ่งพี่เสกสรรค์ เขาก็คงอึดอัดเหมือนกันตอนที่ กปปส.เอาเพลงนี้ไปร้อง" เขาบอกพร้อมกับหัวเราะร่วน
เว็บไซด์ ประชาไท รายงานว่า หลังจากร้องเพลงสู้ไม่ถอย 2020 สุทธิพงศ์เล่าภูมิหลังว่า เขาโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อรับราชการ คุณแม่สอนหนังสือที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดปี 2507 อยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ไม่รู้เรื่องอะไรมากนัก ตอนโรงเรียนปิดในปี 2519 อยู่กับคุณแม่ที่สอนอยู่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์
"ยังจำภาพอาคารที่เหมือนรังผึ้งเต็มไปด้วยรอยกระสุนแต่ก็ไม่รู้อะไรอีก" ฮาร์ทเล่า "ผมมารู้ทุกอย่างดีขึ้นในปี พ.ศ. 2535 ถือว่าช้านะ แล้วก็จากวันนั้นถึงวันนี้ผมก็ดูประเทศของผมเองอย่างห่วงๆ วันนี้รู้สึกว่าจะทำ หากมีอะไรที่ผมทำได้ เพื่อนำพาเราไปสู่สังคมที่ดีกว่า สังคมที่เคารพซึ่งกันและกัน มองมนุษย์เป็นมนุษย์เหมือนกัน สังคมวิจารณ์ได้"
นอกจาก 2 ศิลปินต่างวัยที่กล่าวข้างต้น ยังมีคนบันเทิงแห่ใช้โซเชียลในการโพสต์ ระบุทิศทางเดียวกัน เพื่อสนับสนุนเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน หยุดคุกคามความคิดต่าง และหยุดคุกคามประชาชน ทำให้แฮชแท็ก #วันนี้ดาราCallOutหรือยัง ร้อนแรงในโซเชียล อาทิ ณัฐ ศักดาทร นักร้องชื่อดัง โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ว่า สิ่งที่ควรมี เพื่อจะแก้ปัญหาด้วยกัน คือการสร้างพื้นที่ "ปลอดภัย" ในการแสดงความคิดเห็น ทั้งในสังคมจริงและออนไลน์ ที่เมื่อใครแสดงความคิดเห็นออกไป ก็สามารถวางใจได้ว่าคนอื่นๆ อย่างน้อยจะเคารพสิทธินั้น เห็นต่างก็ถกกันโดยสันติและให้เกียรติซึ่งกัน ไม่ใช้กำลังหรือวาจาคุกคามทำลายกัน
มิวสิค BNK48 ระบุว่า การรับฟังความคิดเห็นของคนคิดต่างจากเรามันคือพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ควรมีใครถูกคุกคามจากการเห็นต่าง ขณะที่ ฝ้าย BNK48 แสดงจุดยืนด้วยการโพสต์ภาพที่มีข้อความระบุว่า เพื่อประชาธิปไตยและอนาคตของพวกเราทุกคน รับฟังความคิดเห็นต่างอย่างเสรี เคารพหลักสิทธิมนุษยชน และไม่ควรมีใครหายไปเพราะพูดความจริง และ แสตมป์ อภิวัชร์ ศิลปินนักร้องดัง โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ว่า เราทุกคนมีสิทธิแสดงความคิด พูดคุยกัน รับฟังกันแก้ปัญหาไปด้วยกัน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: