ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนดูเส้นทางบนพรมแดง ของการรัฐประหารปี 2557 โดย คสช. ในวาระครบรอบ 9 ปี

‘การรัฐประหารแฝด’ ในปี 2549 และ 2557 ยังคงมีผลกระทบมาจนปัจจุบัน การรัฐประหารทั้งสองครั้ง มี ‘ปีศาจทักษิณ’ เป็นตัวละครหลัก และเป็นโจทย์หลักในการออกแบบรัฐธรรมนูญจนบิดเบี้ยวอย่างยากจะปฏิเสธ

แต่รัฐประหารจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากประชาชนไม่ให้การยอมรับ ในวาระครบรอบ 9 ปี รัฐประหารโดย คสช. เส้นทางการยอมรับ การให้ ‘ความชอบธรรม’ ต่อการรัฐประหารเกิดขึ้นได้อย่างไร เราเองมีส่วนร่วมแค่ไหน และสำคัญกว่าคือ จะสรุปบทเรียนนั้นอย่างไร

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ไม่นาน พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2554  ผลคือ พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1  ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ พร้อมพ่วงมากับคำวิจารณ์ว่า นี่คือการสืบทอดอำนาจผ่านตระกูลการเมือง และเป็นร่างทรงของพี่ชาย ‘ทักษิณ ชินวัตร’  

ข้อกล่าวหาข้างต้น ก็ยังไม่ใช่ปัจจัยที่สั่นคลอนรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ได้เท่ากับการยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง  เมื่อปลายปี 2556  โดยหวังจะสร้างความสมานฉันท์ให้แก่ทุกฝ่าย แต่มันกลับสร้างความขัดแย้งสูงจนถูกขนานนามว่า ‘พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ หรือ ‘นิรโทษกรรมสุดซอย’ 

เสียงคัดค้านเกิดขึ้นในวงกว้าง ทั้งจากกลุ่มสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บางส่วน ภาคประชาสังคม  และกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการลุกฮือประท้วงต่อต้านของกลุ่มที่ชื่อว่า ‘คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)’  นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแต่งตั้งตนเองเป็นเลขาธิการ กปปส. โดยใช้ ‘นกหวีด’ เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้าน

การประท้วงเริ่มขยายตัวกว้างขวาง ในที่สุดรัฐบาลของยิ่งก็ยอมถอย โดยการถอนร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ. ปรองดอง ทั้งหมดรวม 6 ฉบับ ออกจากระเบียบวาระการประชุม เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2556 

ถึงแม้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่การชุมนุมของ กปปส. กลับเดินหน้าต่อการชุมนุมยกระดับขึ้นเรื่อยๆ  ในที่สุดแล้ว ‘ยิ่งลักษณ์’ นายกรัฐมนตรี จึงออกมาแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ด้วยการประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 ก.พ. 2557

“ดิฉันได้ฟังมาตลอดกับการร้องขอของผู้ชุมนุม การที่กล่าวถึงทั้งตระกูลนั้น ดิฉันก็ถือว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน จะถึงขนาดไม่ให้อยู่บนแผ่นดินไทยเลยหรือ เราจะเป็นกันอย่างนี้หรือ ดิฉันก็ถอยจนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว ก็ขอความเป็นธรรมด้วย ขอบคุณคะ” ยิ่งลักษณ์ กล่าวในงานแถลงข่าว เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 ณ สโมสรทหารบก

ปฏิบัติการพิเศษของผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. 2557  สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้นำมวลชนบุกปิดสถานที่ราชการ 7 แห่ง  คือ 

  • สวนลุมพินี 
  • แยกอโศก
  • แยกราชประสงค์
  • อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • ห้าแยกลาดพร้าว
  • ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ 
  • แยกปทุมวัน 

โดยมีเป้าหมายเพื่อกดดันให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในปี 2554 ต้อง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ตั้งสภาประชาชนขึ้นมาเพื่อปฏิรูปประเทศ 

คุกคามสื่อ - บุกยึดสถานีโทรทัศน์ 

หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า การคุกคามสื่อในช่วงเวลานั้นก็เกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งการเคลื่อนขบวนบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์ ทั้งช่อง 3, 5, 7, 9, 11 ไทยพีบีเอส และกรมประชาสัมพันธ์ หลักๆ แล้วเพื่อเชื่อมสัญญาณเพื่อถ่ายทอดสดการเคลื่อนไหวและแถลงการณ์ของกลุ่ม กปปส. และห้ามนำเสนอข่าวของฝ่ายรัฐบาล ยกตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้ 

  • 25 พ.ย.2556 กปปส. ชุมนุมหน้าตึกมาลีนนท์ หรืออาคารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เรียกน้องให้สื่อนำเสนอข่าวอย่าง ‘เป็นกลาง’ และเลิกนำเสนอข่าวเกี่ยวกับระบอบทักษิณ ในวันนั้นมีการมอบดอกไม้และนกหวีดพร้อมเรียกร้องแกมกดดันให้ สรยุทธ สุทัศนะจินดา เป่านกหวีดต่อหน้ามวลชน ในที่สุดสรุยทธก็ยอมเป่านกหวีด พร้อมกับประกาศว่า การเป่านี้ไม่ได้หมายถึงการตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะตนต้องทำหน้าที่สื่อ ก่อนที่จะกลับเข้าอาคารมาลีนนท์เพื่อจัดรายการ
  • 1 ธ.ค. 2556 สกลธี ภัทธิยกุล แกนนำ กปปส. นำมวลชนบุกเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เรียกร้องให้มีการเกี่ยวสัญญาณกับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบูลสกาย เพื่อให้ฟรีทีวีทั้งหมดร่วมกันถ่ายทอดสดการชุมนุมของ กปปส. พร้อมทั้งขู่ว่า หากไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง จะให้ ‘จอดำ’ แต่ ไทยพีบีเอส ยืนยันว่าจะไม่ยอมอยู่ใต้บังคับของกลุ่มผู้ชุมนุม
  • 24 ก.พ. 2557 พุทธะอิสระ นำขบวนมวลชน กปปส.ปิดทางเข้า - ออก หน้าสถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี หลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศว่าจะยกระดับการชุมนุมขั้นแตกหักไล่ทุบธุรกิจในเครือข่ายตระกูลชินวัตร โดยพระพุทธะอิสระขู่ว่าจะปักหลักนอนค้างคืน หากไม่ให้ชาวนาได้ชี้แจงผ่านรายการของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี หลังอ้างว่าวอยซ์ทีวี รายงานข่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงว่าชาวนาที่มาชุมนุมกับ กปปส.เป็นชาวนาปลอม ทันทีที่พระพุทธะอิสระ มาถึงสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ก็เรียกร้องให้ผู้บริหารสถานีนำดอกไม้ ธูปเทียนมาขอขมา
  • 20 พ.ค. 2557 ทหารได้ทำการบุกเข้าไปในสถานีโทรทัศน์อย่างน้อย 10 แห่ง รวมทั้ง MV5, DNN, UDD TV, Asia Update, P&P Channel, 4 Channel, Bluesky TV, FMTV, T News และ ASTV สั่งห้ามไม่ให้ออกอากาศ
  • 21  พ.ค. 2557  ทหารบุกเพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ Voice TV,Hot TV, Rescue Satellite TV และสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของเครือข่ายนักศึกษา ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) 
ปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง พรมแดงสู่รัฐประหาร 

หลัง ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 ก.พ.2557 ความร้อนแรงทางการเมืองก็ไม่มีทีท่าจะลดลง กลับกัน กลุ่ม กปปส. ได้ทำการยกระดับข้อเรียกร้องไปเรื่อยๆ และผลักดันไปสู่ ‘การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ และตั้งสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ 5 ด้าน ได้แก่ 

  1. ปฏิรูปการเมือง และกระบวนการเลือกตั้ง เพื่อให้กฎเกณฑ์และกติกากฎหมายบริสุทธิ์
  2. ปฏิรูปกระบวนการวิธีการ ในการแก้ไขป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน
  3. ปฏิรูประบบราชการของไทย กระจายอำนาจจากส่วนกลางให้ถึงมือประชาชน กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
  4. ปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม
  5. ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม

“พวกเราไม่ได้ต้องการช่วงชิงอำนาจรัฐบาล เพราะการตั้งรัฐบาลชั่วคราวผมก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำงานเสร็จก็กลับบ้านไม่ลงเลือกตั้งอีก และอาจเสนอว่าใครที่มาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลจะไม่ต้องลงเลือกตั้ง ให้เว้นวรรค 1-2 สมัย รวมทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติด้วยเพื่อความบริสุทธิ์ และเมื่อวางกฎเกณท์เสร็จก็จะพิมพ์เขียวต่างคนกลับไปทำอาชีพตนเอง สำหรับระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก่อนหน้านี้ที่คิดว่าดี แต่ตอนนี้ก็คิดว่าไม่ใช่แล้ว เพราะมีทั้งเจ้าของบ่อน นักเลง มีคนดีน้อยมาก รวมทั้งพวกที่ร่วมลงหุ้นกับพรรคการเมืองก็มาอยู่ในบัญชีรายชื่อทั้งนั้น เชื่อว่าขณะนี้รัฐบาลไม่มีทางไป ไม่มีทางอยู่ได้แล้ว จะเอาหน้าหรือหัวลง หรือวิธีไหนก็เร็วๆ นี้” สุเทพ กล่าวเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2556 ในเวทีกิจกรรม สานพลังสู่การปฏิรูป 

วิธีการสำคัญที่ กปปส.ใช้คือ ขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง จนเรียกได้ว่า ครั้งนั้นเป็นการจัดการเลือกตั้งที่ทุลักทุเลที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย วิธีการก็คือ ‘ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง’ ดังนี้ 

9 ธ.ค. 2556 ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา โดยหวังว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. จะยุติลง

15 ธ.ค. 2556  สุเทพ ประกาศเตือนยิ่งลักษณ์ว่า “ไม่มีทางได้เลือกตั้ง”

21 ธ.ค. 2556 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง และงดส่งผู้สมัครทุกเขต

26 ม.ค.2557 (วันเลือกตั้งล่วงหน้า) กลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์จนได้รับการขนานนาม  ‘ม็อบนกหวีด’ กระจายตัวปิดล้อมคูหาเลือกตั้งหลายแห่ง ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 440,000 คนไม่สามารถใช้สิทธิ์ลงคะแนนได้

28 ม.ค. 2557 สุเทพ สั่ง กปปส. ทุกจังหวัด เตรียมการล้มเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ขณะเดียวกัน กปปส. สงขลา ได้ปิดล้อมไปรษณีย์หาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถกระจายบัตรเลือกตั้งใน 5 จังหวัดภาคใต้ได้ 

1 ก.พ. 2557 (ก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน) ระหว่างที่ผู้ชุมนุม กปปส. ปิดกั้นการส่งหีบเลือกตั้งจากสำนักงานเขตหลักสี่ มีกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลราว 200 คน มาชุมนุมเผชิญหน้าคัดค้านกลุ่ม กปปส. การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายทำให้เกิดความตึงเครียดถึงขั้นใช้อาวุธปืนยิงโต้ตอบกันหลายนัด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 6 คน เสียชีวิต 1 คน คือ ‘ลุงอะแกว’ วัย 72 ปี ที่ไปสังเกตการณ์อยู่บริเวณหลักสี่ เนื่องจากเป็นห่วงลูกสาวที่ทำงานขายอาหารอยู่ภายในห้างไอทีสเเควร์จึงเข้าไปในพื้นที่ปะทะ โดยอยู่ฝั่งผู้ชุมนุมสนับสนุนการเลือกตั้ง เขาถูกยิงจนกลายเป็นอัมพาตเกือบ 8 เดือนก่อนเสียชีวิตในที่สุด 

2 ก.พ. 2557 (วันเลือกตั้ง) สามารถเปิดคูหาเลือกตั้งได้เพียง 83,813 หน่วย จาก 93,952 หน่วย คิดเป็น 89.2 % ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด มีผู้มาใช้สิทธิ์เพียง 20 ล้านคน จาก 48 ล้านคน และมีบัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนถึง 3.4 ล้านใบ

(กกต. รายงานในภายหลังว่า สามารถจัดการเลือกตั้งได้ 68 จังหวัด มีผู้มาใช้สิทธิ 20,530,359 คน หรือ 47.72 % ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของทั้ง 68 จังหวัด และมี 9 จังหวัด ที่จัดการเลือกตั้งไม่ได้)

21 มี.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ‘ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ’ เหตุเพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวได้  โดยมีมติ 6 ต่อ 3 ให้การเลือกตั้งเป็น ‘โมฆะ’

สร้างทางตัน สู่รัฐประหาร 2557 

แนวคิด ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ และปฏิบัติการปิดคูหาเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งโมฆะ ถือได้ว่า เป็นการปูพรมแดงอัญเชิญทหารเข้าสู่การเมือง โดย คสช.ได้ใช้เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองนี้มาอ้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร และครองอำนาจต่อเนื่องยาวอีกหลายปี 

20 พ.ค.2557 เมื่อสถานการณ์ถูกบ่มจนสุกงอมได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศกฎอัยการศึกในรูปของประกาศกองทัพบก  เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้ชุมนุมทั้ง กปปส. และ นปช. (จัดชุมนุมที่ถนนอักษะ) ยังไม่มีทีท่าจะยุติการชุมนุม พร้อมทั้งตั้งตนเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยปัญหา

21 พ.ค. 2557 รัฐบาลรักษาการแถลงว่า ‘ไม่ได้รับการปรึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจของกองทัพ’ ต่อมากองทัพแถลงว่าท่าทีดังกล่าวว่า ‘มิใช่การรัฐประหาร’ แต่กลับมีการเรียกตัวแทนของรัฐบาลรักษาการและตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าเจรจาหาทางออก

22 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศผ่านทางโทรทัศน์ว่า กองทัพภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินได้เรียบร้อยแล้ว

นับตั้งแต่นั้นมา ชีวิตของประชาธิปไตยไทย ชีวิตของประชาชนไทยก็เข้าสู่โหมด ‘ถอยหลัง’ และมีกับดักมากมายที่สร้างไว้ระหว่างทาง จนถึงวันที่จะ ‘เดินหน้า’ ก็ประสบความยากลำบากอย่างยิ่ง ดังที่เห็นในปัจจุบัน

อ้างอิง