เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับในวาระที่หนึ่ง ถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายถึงการตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีว่า "พวกผม ส.ว.แม้จะอายุมากกันแล้ว ไฟน้อยกันแล้ว แต่จะให้ใครมาปิดสวิตช์ง่ายๆ โดยไม่มีเหตุมีผล กระทั่งถึงการข่มขู่คุกคามเหยียดหยาม คงยอมไม่ได้ แต่ถ้ามีเหตุผลก็มาพูดกัน เราปิดสวิตช์เราเองได้"
ถวิล กล่าวว่า เสียงของวุฒิสภาไม่ได้ชี้ขาดการเลือกนายกรัฐมนตรี ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหากไม่มีเสียงสภาผู้แทนราษฎรมากเพียงพอก็เป็นนายกฯไม่ได้ แม้เป็นได้ก็บริหารประเทศต่อไม่ได้ ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ไม่มีเสียงจาก ส.ว.แม้แต่คนเดียว พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นนายกฯได้อยู่แล้ว
“เรื่องนี้พวกเราโดนด่าฟรี เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง ยังมีคนเอากระดูกมาแขวนคอให้โดนด่าฟรีมาตลอด และการให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นผลจากการทำประชามติ ถือเป็นฉันทามติของประชาชน จะหักดิบยกเลิกดื้อๆ ไม่ได้ ถ้าจะยกเลิกก็ต้องทำประชามติมาให้ถูกต้อง”
ถวิล กล่าวว่า อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.นั้น อยู่ในบทเฉพาะกาล เหลือเวลาอีก 2 ปี ก็จะหมดวาระไป ไม่ต้องมาให้ใครมาไล่ปิดอีกต่อไป
“ใครก็ทราบว่าในสถานการณ์ปกติ ส.ว.ซึ่งไม่ได้มาจากเสียงประชาชน ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ความเป็นจริงแล้วที่ผ่านมาเราเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ที่บ้านเมืองเรายุ่งเหยิงวุ่นวายมืดมนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเพราะอะไรฝีมือใคร ผมเชื่อว่าไม่ใช่เพราะฝีมือพวกผม
ที่ผ่านมาใครกันอาศัยประชาธิปไตยบางหน้าโกงกินคอร์รัปชันจนบ้านเมืองเสียหายย่อยยับ ใครกันที่ดำเนินนโยบายผิดพลาด จนบ้านเมืองเสียหายแทบล่มจม ใครกันอาศัยเสียงข้างมากทำตามอำเภอใจออกกฏหมายนิรโทษกรรม ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างย่อยยับ ไม่ฟังเสียงใคร กระทั่งประชาชนต้องออกมาเดินขบวนขับไล่กันเต็มถนนเป็นล้านล้านคน”
ถวิล กล่าวว่า แน่นอนนักการเมืองในสภาแห่งนี้มีดีหลายคน แต่ยังมีนักการเมืองดีไม่มากพอที่จะต้านทานนักการเมืองที่ไม่ดี
ถวิล กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งก่อนที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 มา ให้มี ส.ส.ร.มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไปเลือกเล่นท่ายาก เล่นหกต่ำ หกสูง ตีลังกากลับหน้ากลับหลังแถมยังใส่เกลียวไปอีกสองรอบจึงไม่สำเร็จ ส่วนที่เสนอแก้รายมาตรามา 13 ฉบับรอบนี้ อาทิ มาตรา 144 ที่ตัดบทลงโทษที่รุนแรงทั้งการพ้นตำแหน่ง สิ้นสุดสมาชิกภาพ ตัดสิทธิการเมือง เผลอๆ ถึงขั้นติดคุก กับนักการเมืองหรือ ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมรายการงบประมาณรายจ่ายของรัฐ ทำลายหลักการรัฐธรรมนูญที่มุ่งการปราบโกง ปล่อยประเด็นนี้ก็เหมือนแก้มัดตราสังข์ ป่าช้าแตกแน่นอน ปล่อยให้มีการคอร์รัปชันหลอกหลอนประชาชน ประเด็นนี้รับไม่ได้
ส่วนมาตรา 185 ที่แก้ไขยอมให้ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรีใช้สถานะตำแหน่งหน้าที่เข้าแทรกแซงการแต่งตั้ง โอนย้าย เลื่อนตำแหน่ง ให้พ้นตำแหน่งข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตรงนี้ตนแสลงใจมาก เคยเจอจริงเจ็บจริงมา คงยอมให้ร่างที่มีเนื้อหาเช่นนี้ผ่านไปไม่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง