วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่รัฐสภา คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวภายหลังรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ จากการเข้าชื่อของประชาชน ด้วยคะแนนรับหลักการ 254 คน ไม่รับหลักการ 245 คน และ งดออกเสียง 129 คน นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล และวีระศักดิ์ เครือเทพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนึ่งในผู้ชี้แจงร่างปลดล็อกท้องถิ่น
ธนาธร กล่าวว่า เราอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองมานาน แต่ร่างฉบับนี้เป็นร่างที่ตั้งใจปฏิรูป เพื่อทำให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบสนองต่อความเดือนร้อนของประชาชน ทันต่อสถานการณ์โลก แบ่งเบาภาระราชการส่วนกลาง ให้ท้องถิ่นดูแลบริการสาธารณะทุกอย่างในพื้นที่และมีงบประมาณเพียงพอ ขณะที่ส่วนกลาง ดูแลมาตรฐานการบริการสาธารณะให้ทุกพื้นที่มีคุณภาพเหมือนกันและพาประเทศไทยไปเวทีโลก
ธนาธร กล่าวต่อว่า บางฝ่ายให้ความเห็นว่าแนวคิดของพวกเราสุดโต่งเกินไป แต่การปล่อยให้ปัญหาของประชาชนอยู่มานานโดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนที่กักขังประเทศไว้แบบนี้ต่างหากที่สุดโต่ง นอกจากนี้ ร่างฉบับนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ให้จัดทำแผนยกเลิกส่วนภูมิภาค และทำประชามติถามประชาชนว่าจะยกเลิกหรือไม่ภายใน 5 ปี มาถกเถียงกันว่าเมื่อกระจายอำนาจและงบประมาณไปให้ท้องถิ่นเต็มที่แล้ว ราชการส่วนภูมิภาคควรมีบทบาทอย่างไร และสุดท้ายคือเรื่องการทุจริต ตนคิดว่าทุกรายงานยืนยันตรงกัน ว่าส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีมูลค่าการทุจริตมากกว่าท้องถิ่น
“ขอยืนยันความตั้งใจของเรา ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เป็นการทำให้การบริการของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายข้อกล่าวหาที่เราได้รับจึงไม่ได้ตั้งอยู่บนความจริง แต่ตั้งอยู่บนอคติที่ผิด เสียดายเวลาและโอกาสของประเทศ ทั้งที่หากเราเห็นไม่ตรงกัน รัฐสภาควรรับหลักการในวาระ 1 เพื่อไปถกเถียงแลกเปลี่ยนในวาระ 2 ต่อ เพราะเรายืนยันชัดเจนว่าพร้อมประนีประนอม แต่แม้วันนี้ทำไม่สำเร็จ คณะก้าวหน้าจะเดินหน้ารณรงค์เรื่องการกระจายอำนาจต่อไป และเชื่อว่าเพื่อนร่วมงานของเราในพรรคก้าวไกล จะสานต่อภารกิจนี้” ธนาธรกล่าว
พิธา กล่าวว่า การกระจายอำนาจอย่างแท้จริงเป็นหนทางเดียวของประเทศไทย เป็นนโยบายที่จะปราศรัยทุกเขต เช่นนโยบายยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ล้วงลูกการทำงานของท้องถิ่น หรือการเพิ่มงบของท้องถิ่นทั่วประเทศ 200,000 ล้านบาท ภายใน 4 ปี โดยที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นนโยบายที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี จากการลงพื้นที่ ตนได้เห็นท้องถิ่นที่มีศักยภาพ แต่หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้กระจายอำนาจมากขึ้น ประเทศไทยก็จะกระจุกตัวต่อไป
“ข้อสังเกตของผมในเชิงระบบ คือถ้าเป็นสภาผู้แทนฯ ร่างนี้จะผ่าน ทำให้เห็นความยึดโยงกับประชาชน ว่าถ้ามาจากการเลือกตั้ง ก็โหวตแบบหนึ่ง ส่วนอีกกลุ่มที่มาจากการลากตั้ง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเห็นหัวประชาชน และก่อนหน้านี้ ได้เห็นที่รองประธานสภาฯ ปราศรัยที่สกลนคร บอกว่าต้องให้มี ส.ส.ของตัวเองเพื่อให้งบประมาณลงไปถึงพื้นที่ ผมคิดว่านี่คือสาเหตุจำเป็นที่ร่างนี้ควรผ่าน เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำ ให้ทุกพื้นที่เท่าเทียมกัน ป้องกันสถานะที่ใครมือยาวสาวได้สาวเอา เข้าสู่อำนาจเพื่อพัฒนาฐานเสียงของตัวเอง เป็นสิ่งที่พวกเราไม่ถวิลหาที่จะเห็นในประเทศไทย อีกทั้ง ส.ส. มีหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชน ตรวจสอบรัฐบาล และผ่านกฎหมายที่ก้าวหน้า ไม่ได้มีหน้าที่ดึงงบไปลงบ้านใหญ่อย่างที่เกิดขึ้น” พิธา กล่าว
วีระศักดิ์ กล่าวว่า ผลการลงมติที่ออกมา สะท้อนว่าผู้ลงคะแนนเอาเรื่องการเมืองมาปนกับคุณภาพชีวิตประชาชน ทำให้บางครั้งการตัดสินใจมีอคติ เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดต่อในอนาคต คือประชาชนจะยอมปล่อยให้เรื่องของตนเองอยู่ในกำมือของผู้มีอำนาจเพียงเท่านั้นหรือไม่ หรือควรต้องตื่นตัวมาเรียกร้องเคลื่อนไหวเรื่องนี้ต่อไป
“เร็วๆ นี้คงมีการเลือกตั้ง ผมมั่นใจว่านโยบายการปกครองท้องถิ่นจะเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่แต่ละพรรคการเมืองนำมาชูประเด็นในการหาเสียง อยากฝากทุกคนช่วยติดตาม ว่าผลการลงมติวันนี้กับสิ่งที่พรรคการเมืองหาเสียงในอนาคต จะไปด้วยกันหรือขัดแย้งกัน หรือจะมีการกลืนน้ำลายกันหรือเปล่า” วีระศักดิ์ กล่าว