ไม่พบผลการค้นหา
'ช่อ พรรณิการ์' เผยประชาชนทุกกลุ่มเห็นด้วยยุติรัฐรวมศูนย์ 3 เดือนรณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่นได้รายชื่อประชาชนครบทุกจังหวัดร่วมแสนชื่อ ด้าน 'ไอติม พริษฐ์' ชี้การเมืองเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ เชื่อหากร่างนี้ผ่านจะคืนความหวังต่อการเมืองไทยให้กับประชาชน

วันที่ 11 ก.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา พรรณิการ์ วานิช, ไกลก้อง ไวทยการ, ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้เชิญชวนเสนอกฎหมาย พร้อมด้วย พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เชิญชวนเสนอกฎหมาย และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ร่วมกันนำรายชื่อประชาชน 80,772 รายชื่อ ที่ร่วมลงชื่อแคมเปญ ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ไปยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งมีผ่องศรี ธาราภูมิ ผู้ชำนาญการประจำตัว ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เข้ารับมอบรายชื่อแทนประธานรัฐสภา

5B93F0CE-23CC-4BED-8CA9-FF77EB9BD969-L0-001.jpg

พรรณิการ์ วานิช ในฐานะผู้เชิญชวนเสนอกฎหมาย กล่าวว่า วันนี้ได้นำ รายชื่อประชาชน 80,772 รายชื่อ ที่ประชาชนร่วมกันส่งเสียงลงชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นรายชื่อที่พวกเราประชาชนภาคภูมิใจ เพราะได้มาจากประชาชนครบทั้ง 77 จังหวัดและใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือน แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยขานรับ อยากเห็นการกระจายอำนาจที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ซึ่งอันที่จริงแล้วรายชื่อที่ประชาชนร่วมลงชื่อกันเข้ามา มีมากกว่านี้เพิ่มอีกหลายพันรายชื่อ แต่เป็นรายชื่อที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ โดยส่วนใหญ่เป็นรายชื่อประชาชนที่อายุไม่ถึง 18 ปี ทำให้ไม่ผ่านคุณสมบัติตามกฎหมายในการลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายได้ แต่ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ามีเยาวชนจำนวนมากตื่นตัวในเรื่องนี้

"ตลอด 3 เดือนในการรณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่น ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นเรื่องยากในการอธิบาย เพราะเป็นเรื่องรายละเอียดทางกฎหมาย ที่เข้าไปแก้ไขประเด็นการกระจายอำนาจ ที่เป็นประเด็นเฉพาะ แต่พอได้รณรงค์จริงๆ เรากลับพบว่าเรื่องี้ทำความเข้าใจกับประชาชนได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะอุดมการณ์ไหน เลือกพรรคใด แต่เมื่อพูดถึงการยุติรัฐราชการรวมศูนย์ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกัน ทำให้เรารวบรวมรายชื่อได้เร็ว ภายใน 3 เดือน สามารถรวบรายชื่อประชาชนได้หลายหมื่นรายชื่อ บวกกับความสะดวกที่ประชาชนสามารถร่วมลงชื่อออนไลน์ได้ ทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว" พรรณิการ์ ระบุ

21D4E2D7-EE78-436A-934C-00BBB983AC90-L0-001.jpg

นอกจากนี้ พรรณิการ์ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ เรามีบ้านนโยบายคือ สามฐานราก แปดเสาหลัก หนึ่งปักธงประชาธิปไตย หนึ่งในสามฐานรากก็มีเรื่องของการยุติรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นภารกิจหลักตั้งแต่ริเริ่มตั้งพรรคอนาคตใหม่ เราต้องการที่จะให้ประเทศไทยยุติการรวมอำนาจ ทรัพยากร ไว้ที่ส่วนกลาง แต่อยากให้ทุกพื้นที่สามารถกำหนดอนาคต กำหนดทิศทางการพัฒนาของตัวเอง ซึ่งเราเชื่อว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำให้ประเทศไทยสามารถปลดล็อกออกจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนามาหลายสิบปีได้

"เราทำภารกิจสองแบบ คือจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบน จากบนลงล่างก็คือการทำงานของร่างฉบับนี้ ให้มีการแก้ไขผ่านระบบกฎหมาย แก้ไขการเมืองเชิงโครงสร้าง กติกาให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในประเทศไทย ส่วนการทำงานจากล่างขึ้นบน ก็เป็นภารกิจของคณะก้าวหน้า ที่เราได้ร่วมสร้างท้องถิ่นที่มีศักยภาพ ทำงานโปร่งใส มีวิสัยทัศน์ เพื่อที่จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่า เมื่อมีงบประมาณมีอำนาจ ประเทศไทยเรามีผู้บริหารท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมากอยู่ทั่วประเทศ ที่สามารถนำมาบริหาร มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ตอนนี้งานจากบนลงล่างกำลังยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยความคาดหวังของประชาชนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องว่าพรรคไหนได้ประโยชน์ แต่เป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศได้ประโยชน์ หวังว่าผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่ให้สมชื่อ สมกับคำว่าผู้แทนของราษฎร ช่วยกันผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ ที่จะปลดล็อกโซ่ตรวนประเทศไทยจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนาแล้วก้าวต่อไปข้างหน้า ปลดปล่อยศักยภาพของทุกพื้นที่ทั่วประเทศไปด้วยกัน" พรรณิการ์ กล่าว

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย กล่าวว่า ขอขอบคุณประชาชนทุกคน เครือข่ายทุกเครือข่ายที่ร่วมกันรณรงค์ล่ารายชื่อ เพื่อร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น มีรายชื่อรวมกันถึง 80,772 รายชื่อ ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบ้านเมือง

พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า การให้ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอในการปลดล็อกท้องถิ่น จำเป็นต้องมีการกระจายงาน กระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นในการรับผิดชอบจัดการบริการสาธารณะเป็นหลัก ที่ผ่านมางานบริการสาธารณะหลายส่วนยังอยู่กับส่วนกลาง การตัดสินใจยังอยู่ที่ส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ถนนหนทาง ข้อเสนอของเราในการปลดล็อกท้องถิ่นคือให้การจัดการบริการสาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ท้องถิ่น ยกเว้นการต่างประเทศ การทหาร สกุลเงิน

8BC30E9A-8540-4DA4-B199-552AFAEF41DD-L0-001.jpg

พริษฐ์ กล่าวว่า การมายื่นในครั้งนี้ พวกเรามีความคาดหวังใน 2 ประเด็น หนึ่ง หวังว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างของประชาชนร่างนี้เข้าไปสู่การพิจารณาของสมาชิกรัฐสภาให้ได้เร็วที่สุด สอง หวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะเห็นชอบอย่างเพียงพอกับร่างข้อเสนอของเรา และถ้าเราไปดูการรณรงค์หาเสียงเมื่อตอนปี 62 และไปดูบทสัมภาษณ์ของ ส.ส. และ ส.ว. หลายท่าน ที่มีความคิดเห็นด้วยเรื่องการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมากขึ้น จึงอยากเชิญชวนสมาชิกรัฐสภาทุกท่านว่าอย่ามองว่าร่างนี้เป็นร่างของคณะก้าวหน้า อย่ามองเลยว่าเป็นร่างของพรรคก้าวไกล แต่มองว่าร่างนี้เป็นร่างของภาคประชาชนทุกคนที่อยากจะกระจายอำนาจ อยากปลดล็อกท้องถิ่น อย่างไรก็ตามไม่ว่าความคาดหวังทั้งสองข้อนี้ จะถูกตอบสนองแค่ไหน แต่ก็ยืนยันว่าพรรคก้าวไกล การกระจายอำนาจ การปลดล็อกท้องถิ่น จะเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก และเป็นหัวใจสำคัญที่เราจะนำเสนอต่อพี่น้องประชาชน

"ทุกครั้งที่มีการยื่นร่างใดๆ ก็ตามเข้ามาในสภา หลายคนก็จะถามว่าจะผ่านจริงมั้ย จะเป็นไปได้หรือ ผมเลยอยากจะกล่าวทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ว่า การเมืองเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ ไม่นานมานี้คงไม่มีใครคิดว่า ร่างสมรสเท่าเทียมจะผ่าน ปัจจุบันร่างสมรสเท่าเทียมก็ผ่านในวาระแรกแล้ว แม้ว่าจะต้องติดตามต่อในวาระสองและวาระสามต่อ และไม่นานมานี้ไม่มีใครคาดคิดว่า ร่างกฎหมายที่จะพยายามส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมสุรา แต่ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ก็ผ่านในวาระหนึ่งเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าเราจะต้องติดตามต่อในวาระสองและวาระสามก็ตาม หลายคนที่เราไปพูดคุยมาก็ตั้งคำถามว่าร่างปลดล็อกท้องถิ่นจะผ่านได้จริงหรือ ผมก็หวังว่าปรากฎการณ์ในร่างนี้ จะได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา ก็จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ และก็จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในการคืนความหวังต่อการเมืองไทยให้กับประชาชน" พริษฐ์ ระบุทิ้งท้าย